ค้นหาข้อมูลมติคณะรัฐมนตรี
ค้นหาเพิ่มเติม
หน้าที่ 1 จากทั้งหมด 1 หน้า แสดงรายการที่ 1 - 1 จากข้อมูลทั้งหมด 1 รายการ
ลำดับ | ชื่อเรื่อง | ส่วนราชการ เจ้าของเรื่อง |
วันที่มีมติ | ||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
1 | เรื่องต่าง ๆ ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ | นร. | 13/09/2566 | ||||||
ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรีได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณามอบหมายในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้ ๑. เรื่อง
การแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘
กรกฎาคม ๒๕๖๗ มติ
มอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีรับเรื่องนี้ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป ๒. เรื่อง
การแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช
๒๕๖๐ มติ มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม
เวชยชัย)
พิจารณาดำเนินการในประเด็นการแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช ๒๕๖๐ ทั้งนี้ โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์
และให้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกภาคส่วนในการออกแบบกฎ
กติกาที่เป็นประชาธิปไตย ทันสมัย และเป็นที่ยอมรับร่วมกัน
ตลอดจนสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และหารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภา
เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นและประเทศสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง
รวมทั้งเป็นไปตามคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๖
ด้วย ๓. เรื่อง การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการวางระเบียบที่เป็นเงื่อนไขหรือข้อจำกัดในการปฏิบัติงานหรือการใช้ชีวิตของประชาชน มติ
ให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐพิจารณาทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเรื่องต่าง ๆ
ในความรับผิดชอบที่เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติราชการของภาครัฐที่มีผลกระทบต่อการอำนวยความสะดวกและการให้บริการประชาชน
รวมถึงการอนุมัติ อนุญาตแก่ภาคเอกชน โดยให้คงอยู่ไว้เฉพาะเท่าที่จำเป็น
และหากเรื่องใดที่ไม่มีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดเงื่อนไขไว้
ให้ถือว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ โดยไม่ต้องขออนุมัติ ขออนุญาต ทั้งนี้
ให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรับแจ้งยืนยันการคงอยู่ของมติคณะรัฐมนตรีในความรับผิดชอบที่สมควรให้มีผลใช้บังคับอยู่ต่อไป
ต่อคณะรัฐมนตรีโดยด่วนภายในวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๖
หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่ามติคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้น ๆ มีผลสิ้นสุดไป
รวมทั้งให้นำแนวทางข้างต้นไปใช้กับการพิจารณาการตรากฎหมายในระดับต่าง ๆ ด้วย ๔. เรื่อง การทบทวนประกาศ
คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ที่ยังคงมีผลใช้บังคับในปัจจุบัน มติ
มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการ่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนความจำเป็น
เหมาะสมของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับต่าง ๆ
ที่ยังคงมีผลใช้บังคับในปัจจุบัน
โดยหากประกาศหรือคำสั่งใดสมควรให้คงมีผลใช้บังคับอยู่ต่อไป หรือสมควรยกเลิก
ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยด่วนภายในวันที่ ๙ ตุลาคม
๒๕๖๖ ๕. เรื่อง นโยบายการเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่าน Digital Wallet มติ มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
(นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมหารือของกระทรวงการคลัง
สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เพื่อศึกษารายละเอียดของแนวทางในการดำเนินนโยบายการเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่าน Digital Wallet ให้ชัดเจน
แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีโดยด่วน ๖. เรื่อง
การพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา
๒๐๑๙ มติ มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
(นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์)
แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
(SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา
๒๐๑๙ เป็นระยะเวลา ๓ ปี และ ๑ ปี ตามลำดับ
โดยให้เสนอมาตรการดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีโดยด่วนภายใน ๒ สัปดาห์ ๗. เรื่อง นโยบายด้านพลังงาน มติ มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี
(นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค)
และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเร่งพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรการลดราคาพลังงานให้ครอบคลุมทั้งค่าไฟฟ้า
ค่าก๊าซหุงต้ม และราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชนและเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขันให้แก่ภาคธุรกิจ
แล้วให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีโดยด่วน ๘. เรื่อง
การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ มติ
มอบหมายให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรีรับไปดำเนินการจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ
โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นรองประธานกรรมการ
นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นที่ปรึกษาและกรรมการ นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี
เป็นกรรมการ และมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการให้ครบถ้วน
เพื่อดำเนินงานต่อไป ๙. เรื่อง การเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์และผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ
(El Nino) และลานีญา (La
Nina) มติ
มอบหมายให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรีรับไปดำเนินการจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นรายจังหวัด
เป็นเรื่องเร่งด่วน โดยให้รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย)
เป็นประธานกรรมการ นายปลอดประสพ สุรัสวดี ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม
เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการ และมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการให้ครบถ้วน
เพื่อเป็นกลไกในการพิจารณาเตรียมการรองรับสถานการณ์และผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ
(El Nino) และลานีญา (La
Nina) ที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องใน ๒-๓ ปีข้างหน้า ๑๐. เรื่อง
นโยบายด้านการประมง มติ
มอบหมายให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรีรับไปดำเนินการจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูทะเลไทยเพื่อความยั่งยืนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
โดยให้รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) เป็นประธานกรรมการ นายปลอดประสพ
สุรัสวดี ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการ
และมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการให้ครบถ้วน
เพื่อพิจารณาดำเนินการแก้ปัญหาของอุตสาหกรรมประมงให้เป็นระบบและครบวงจร
โดยให้คำนึงถึงการบริหารทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนด้วย ๑๑. เรื่อง
นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (๓๐ บาทรักษาทุกโรค) มติ
มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อยกระดับการดำเนินโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
(โครงการ ๓๐ บาทรักษาทุกโรค) โดยด่วน
เพื่อพิจารณาดำเนินการปรับปรุงระบบสาธารณสุขของประเทศให้มีความทันสมัย มีประสิทธิภาพ
และสามารถให้บริการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น ๑๒. เรื่อง
นโยบายการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว มติ มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน
ชาญวีรกูล)
และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาดำเนินการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว
(Visa Free) สำหรับนักท่องเที่ยวจากสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐคาซัคสถานเป็นกรณีพิเศษและเป็นการชั่วคราว
เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศ
รวมทั้งพิจารณาผ่อนปรนเงื่อนไขและขั้นตอนการเข้าประเทศสำหรับผู้ที่เข้ามาจัดแสดงสินค้าและนิทรรศการ
โดยให้มีผลบังคับใช้ภายในวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๖ ๑๓. เรื่อง
การปราบปรามผู้มีอิทธิพล มติ มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี
(นายอนุทิน ชาญวีรกูล)
และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเร่งจัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับผู้มีอิทธิพลการครอบครองและพกพาอาวุธปืน
ยาเสพติด การรับสินบน และการซื้อขายตำแหน่งในระบบราชการให้บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม
โดยการครอบครองและพกพาอาวุธปืนและอาวุธอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย
ควรกำหนดให้ผู้ครอบครองนำมามอบแก่ทางราชการที่สถานีตำรวจในภูมิลำเนาภายใน ๓๐ วัน
ส่วนอาวุธปืนและอาวุธอื่น ๆ ที่มีทะเบียนถูกต้อง
หากผู้ครอบครองจำเป็นต้องพกพาให้ดำเนินการขออนุญาตพกพาภายใน ๓๐ วัน
นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ ทั้งนี้
ให้รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีโดยเร็วต่อไป ๑๔. การปรับเงื่อนไขการจ่ายเงินเดือนให้แก่ข้าราชการ มติ มอบหมายให้กระทรวงการคลัง
(กรมบัญชีกลาง) เร่งศึกษาหลักเกณฑ์ เงื่อนไข
และรายละเอียดในการจ่ายเงินเดือนของข้าราชการโดยแบ่งจ่ายเป็น ๒ รอบ
เพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้แก่ข้าราชการ
ทั้งนี้ ให้เร่งรัดการพิจารณาดำเนินการเพื่อให้สามารถปฏิบัติได้ภายในวันที่ ๑
มกราคม ๒๕๖๗ ๑๕. เรื่อง
การใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ มติ
มอบหมายให้รัฐมนตรีทุกท่านกำกับดูแลการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐในกำกับดูแลให้ถูกต้อง
เหมาะสม โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของภารกิจที่กำหนดไว้
บนพื้นฐานของความจำเป็นและประหยัดอย่างเคร่งครัด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางไปร่วมประชุม สัมมนา ดูงาน
ของผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงาน ๑๖. เรื่อง
การลดขนาดขบวนรถเดินทางของรัฐมนตรี มติ มอบหมายให้รัฐมนตรีทุกท่านพิจารณาปรับลดจำนวนคนและรถนำขบวนให้เหมาะสมเท่าที่จำเป็น
เพื่อให้เกิดผลกระทบด้านการจราจรกับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนให้น้อยที่สุด
|