ค้นหาข้อมูลมติคณะรัฐมนตรี
ค้นหาเพิ่มเติม
หน้าที่ 1 จากทั้งหมด 1 หน้า แสดงรายการที่ 1 - 1 จากข้อมูลทั้งหมด 1 รายการ
ลำดับ | ชื่อเรื่อง | ส่วนราชการ เจ้าของเรื่อง |
วันที่มีมติ |
---|---|---|---|
1 | ผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา ครั้งที่ 10 | พณ. | 01/02/2565 |
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา
ครั้งที่ ๑๐ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
(นายสินิตย์ เลิศไกร) เข้าร่วมประชุม ซึ่งเนการาบรูไนดารุสซาลาม ในฐานะประธานอาเซียน
ปี ๒๕๖๔ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม สรุปได้ ดังนี้ (๑) การแลกเปลี่ยนแนวทางแก้ไขผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙
เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับการเปิดตลาดการค้าและการลงทุน ทั้งนี้
ไทยได้เน้นย้ำความสำคัญของระบบการค้าที่เปิดกว้างและสนับสนุนบทบาทขององค์การการค้าโลก
เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับวัคซีนและยาที่จำเป็น (๒)
รับทราบข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของสภาธุรกิจแคนาดา-อาเซียน ที่ให้ความสำคัญกับการเปิดเสรีทางการค้า
โดยเฉพาะการจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา
การเปิดพรมแดนให้นักธุรกิจสามารถเดินทางระหว่างกัน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน
การส่งเสริมเศรษฐกิจและการค้าดิจิทัล
และการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (๓) เห็นชอบการเปิดเจรจาการจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา
โดยกำหนดเป้าหมายให้สรุปผลการเจรจาภายใน ๒ ปี
และเห็นชอบเอกสารขอบเขตสาระที่จะเจรจาในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา
(๔) กระทรวงพาณิชย์คาดว่าอาเซียนและแคนาดาจะสามารถสรุปแผนงานเจรจาและเริ่มการเจรจารอบแรกในช่วงไตรมาสแรกของปี ๒๕๖๕ ทั้งนี้
ได้จัดทำขอบเขตสาระเบื้องต้นที่จะเจรจาในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา โดยมีประเด็นที่สำคัญ เช่น
ภาพรวมการเจรจา มาตรการป้องกันและเยียวยาทางการค้า และนโยบายแข่งขันทางการค้า และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเตรียมการเจรจาในส่วนที่เกี่ยวข้อง
โดยให้คำนึงถึงประโยชน์และผลกระทบต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
และเตรียมมาตรการบรรเทาผลกระทบในส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนยึดท่าทีตามกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดาของประเทศไทย
ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ทั้งนี้
ให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงวัฒนธรรม
ที่ควรคำนึงถึงหลักการความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง
ซึ่งแต่ละประเทศต่างดำเนินการตามพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้าร่วมเป็นภาคี
โดยคำนึงถึงขีดความสามารถของแต่ละประเทศ
และไม่ควรใช้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องมืดกีดกันทางการค้าต่อไปในอนาคต
ควรคำนึงถึงข้อดีและผลกระทบทางสังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนผลประโยชน์ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะได้รับ
ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย |