ค้นหาข้อมูลมติคณะรัฐมนตรี
ค้นหาเพิ่มเติม
หน้าที่ 4 จากทั้งหมด 17 หน้า แสดงรายการที่ 61 - 80 จากข้อมูลทั้งหมด 326 รายการ
ลำดับ | ชื่อเรื่อง | ส่วนราชการ เจ้าของเรื่อง |
วันที่มีมติ | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
61 | ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 พ.ศ. .... [สรุปผลการประชุมคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม 2565)] | ปสส. | 01/11/2565 | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร
วันจันทร์ที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๕ ซึ่งให้เสนอร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค
พ.ศ. ๒๕๓๔ พ.ศ. ....
ต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อบรรจุระเบียบวาระเป็นเรื่องด่วน
ตามที่ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรเสนอ
|
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
62 | รายงานสถานการณ์เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็ก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 | รง. | 01/11/2565 | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสถานการณ์เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็ก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.
๒๕๖๔ ซึ่งมีสาระสำคัญ ในประเด็น ดังนี้ (๑) สถานการณ์การใช้แรงงานเด็กทั่วโลก (๒)
สถานการณ์เด็กทำงานในประเทศไทย (๓) สถานการณ์การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย
(๔) ผลการประเมินจัดระดับสถานการณ์แรงงานเด็ก (๕)
การขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายของประเทศไทย
และ (๖) ข้อเสนอแนะจากการวิเคราะห์สถานการณ์และผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ.
๒๕๖๔ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ
|
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
63 | การเสนอให้นาคเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนาน | นร.01 | 01/11/2565 | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้นาคเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนาน ตามมติคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม
๒๕๖๕ ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ |
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
64 | ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทางน้ำชลประทานลำห้วยผาก เป็นทางน้ำชลประทานที่จะเรียกเก็บค่าชลประทาน พ.ศ. .... | กษ. | 01/11/2565 | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทางน้ำชลประทานลำห้วยผาก
เป็นทางน้ำชลประทานที่จะเรียกเก็บค่าชลประทาน
พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ทางน้ำชลประทานลำห้วยผาก
ในท้องที่ตำบลกลัดหลวง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี
เป็นทางน้ำชลประทานที่จะเรียกเก็บค่าชลประทานจากผู้ใช้น้ำที่นำน้ำไปใช้เพื่อกิจการโรงงาน
การประปา หรือกิจการอื่นนอกจากภาคเกษตรกรรม เพื่อประโยชน์ในการควบคุมดูแลปริมาณน้ำและให้การใช้น้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
|
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
65 | การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ สมัยที่ 14 (Ramsar COP 14) | ทส. | 01/11/2565 | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนี้ ๑. เห็นชอบและรับทราบท่าทีไทยสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ
สมัยที่ ๑๔ (Ramsar COP 14)
ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๕-๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ณ เมืองอู่ฮั่น
สาธารณรัฐประชาชนจีน และนครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และให้การรับรองปฏิญญาอู่ฮั่น
(ฉบับแก้ไข) [Wuhan Declaration (The revised version)] และมอบหมายหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเป็นผู้รับรองในการประชุมระดับสูง
ในวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
รวมทั้งรับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยในการเข้าร่วมการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ
สมัยที่ ๑๔ โดยการประชุมฯ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดท่าทีและจุดยืนของประเทศไทยสำหรับการประชุมดังกล่าว
ทั้งในระดับสูงและระดับเจ้าหน้าที่ในเรื่องต่าง ๆ เช่น
การสนับสนุนและให้ความร่วมมือในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู
และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำและปฏิญญาอู่ฮั่น โดยไม่ขัดกับยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของรัฐบาล
ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
และหากมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนร่างปฏิญญาอู่ฮั่น
ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้
ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการได้
โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งให้ชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว
ทั้งนี้
ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับความเห็นของกระทรวงคมนาคมและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
โดยขอให้ดำเนินการตามระเบียบ กฎหมาย และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย ๒.
ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่
๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ (เรื่อง การเสนอเรื่องเร่งด่วนต่อคณะรัฐมนตรี)
ในการเสนอเรื่องนี้
|
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
66 | การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (ร้อยตำรวจเอก ไพรัตน์ เทศพานิช) | ปปง. | 01/11/2565 | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแต่งตั้ง
ร้อยตำรวจเอก ไพรัตน์ เทศพานิช ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งเลขานุการกรม
สำนักงานเลขานุการกรม สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
(นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
ตั้งแต่วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์
ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เสนอ
|
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
67 | การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ (1. พลตรี เจียรนัย วงศ์สอาด ฯลฯ รวม 10 คน) | พม. | 01/11/2565 | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ รวม ๑๐ คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการอื่นเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี
ทั้งนี้
ให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๕) เป็นต้นไป ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ ๑. พลตรี เจียรนัย
วงศ์สอาด ประธานกรรมการ ๒. นางพัชรี อาระยะกุล กรรมการ ๓. นายรณชัย จิตรวิเศษ กรรมการ ๔. นายจเรรัฐ ปิงคลาศัย กรรมการ ๕. นายอัครพล
ลีลาจินดามัย กรรมการ ๖. นายธีรภัทร
ประยูรสิทธิ กรรมการ ๗. นายชยงการ ภมรมาศ กรรมการ ๘. พลเอก สุวิชา
แก้วรุ่งเรือง กรรมการ ๙. นายอนุกูล ปีดแก้ว กรรมการ
(ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ๑๐. นางศุกร์ศิริ
บุญญเศรษฐ์ กรรมการ
|
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
68 | ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนกันยายน 2565 | นร.11 สศช | 01/11/2565 | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ
ณ เดือนกันยายน ๒๕๖๕ ซึ่งมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น (๑)
ความก้าวหน้ายุทธศาสตร์ชาติและการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (๒)
ความก้าวหน้าการปฏิรูปประเทศ (๓) การติดตาม การตรวจสอบ
และการประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ และ (๔)
ประเด็นที่ควรเร่งรัดเพื่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ
ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ
ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอ
|
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
69 | ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 เรื่อง ขออนุมัติโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก | สกพอ. | 01/11/2565 | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติ ๑. รับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
(สกพอ.) ในฐานะหน่วยงานเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
(กพอ.) เสนอ ดังนี้ ๑.๑ รับทราบมติ กพอ. ครั้งที่ ๓/๒๕๖๕
ในการให้กองทัพเรือเป็นหน่วยงานดำเนินโครงการ (Implementing
Agency) สำหรับโครงการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ ๒
(โครงการทางวิ่งและทางขับที่ ๒)
โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (โครงการสนามบินอู่ตะเภา)
ทั้งนี้ ทางวิ่งและทางขับที่ ๒ เป็นทรัพย์สินราชพัสดุ
เมื่อกองทัพเรือดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ ให้ส่งมอบสิทธิการใช้ประโยชน์ให้กับ
สกพอ. เพื่อดำเนินการตามสัญญาร่วมลงทุนต่อไป
โดยหากไม่มีข้อทักท้วงหรือไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่น
ให้ถือว่าคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหรือเห็นชอบตามมติ กพอ. ๑.๒ พิจารณาทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่
๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๑ เรื่อง ขออนุมัติโครงการสนามบินอู่ตะเภา จากเดิม
“อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณจำนวน ๑๗,๗๖๘ ล้านบาท ให้กับกองทัพเรือเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการสนามบินอู่ตะเภา
และให้กองทัพเรือดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณต่อไป” เป็น
“อนุมัติกรอบวงเงินจำนวน ๑๗,๗๖๘ ล้านบาท ให้กับกองทัพเรือเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการสนามบินอู่ตะเภา
และให้กองทัพเรือดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณต่อไป ทั้งนี้
สำหรับแหล่งเงินเพื่อการดำเนินงานการก่อสร้างโครงการทางวิ่งและทางขับที่ ๒
โครงการสนามบินอู่ตะเภา อนุมัติให้กระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้ตามมาตรา ๒๒
แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. ๒๕๔๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ในกรอบวงเงิน ๑๖,๒๑๐ ล้านบาท ให้กับกองทัพเรือ
โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณสมทบในอัตราส่วนของแหล่งเงินกู้และเงินงบประมาณเป็นไปตามที่กระทรวงการคลังตกลงกับแหล่งเงินกู้ ๒. ให้
สกพอ. ในฐานะหน่วยงานเลขานุการของ กพอ. และกองทัพเรือรับความเห็นของกระทรวงการคลัง
กระทรวงคมนาคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เช่น (๑)
ให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ตามมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ
พ.ศ. ๒๕๔๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในกรอบวงเงิน ๑๖,๒๑๐.๙๐ ล้านบาท ให้กับกองทัพเรือ
(๒) ให้กองทัพเรือ และ สกพอ. จัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องตามเงื่อนไขในการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ของแหล่งเงินกู้ต่างประเทศ
และ (๓) ให้กองทัพเรือจัดเตรียมงบประมาณสำหรับโครงการทางวิ่งและทางขับที่ ๒
รวมทั้งจัดทำแผนการใช้จ่ายเงินในแต่ละปีส่งให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้
ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ
และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด |
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
70 | สรุปผลการพิจารณาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง “การจัดการตำบลเข้มแข็งตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ” ของคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา | สว. | 01/11/2565 | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปผลการพิจารณาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานการพิจารณาศึกษา
เรื่อง “การจัดการตำบลเข้มแข็งตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ”
ของคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ซึ่งสำนักงาน
ก.พ.ร. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณารายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ
แล้ว สรุปว่า หากจะกำหนดประเด็น “ตำบลเข้มแข็ง” ให้เป็นวาระแห่งชาติ
ควรเป็นการกำหนดให้เป็นวาระสำคัญ (Agenda) หรือประเด็นสำคัญ (Issue)
เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจหน้าที่ร่วมระดมกำลังในการแก้ไขปัญหา
โดยจะต้องมีกระบวนการระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความชัดเจนในกระบวนการปฏิบัติเพื่อให้วาระแห่งชาติขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
การกำหนดตัวชี้วัดร่วมของส่วนราชการที่มีภารกิจในระดับตำบลเพื่อให้การทำงานของทุกส่วนราชการได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการพัฒนาระบบการจัดการตำบลเข้มแข็งแบบหุ้นส่วนอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง
จะทำให้เกิดความร่วมมือในการทำงานทั้งในด้านฐานข้อมูล งบประมาณ บุคลากร
และฐานข้อมูล (Database) การจัดให้มี “แผนงานโครงการและงบประมาณสนับสนุนการพัฒนาระบบการจัดการตำบลเข้มแข็งแบบหุ้นส่วน”
ในระดับตำบล
ควรให้คณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาคพิจารณาความเหมาะสมตามข้อเสนอแนะดังกล่าวต่อไป
การจัดทำหลักสูตรการจัดการตำบลเข้มแข็ง สำนักงาน ป.ย.ป.
ได้ให้ความร่วมมือโดยใช้ประสบการณ์จากการดำเนินโครงการนักบริหารระดับสูง : ผู้นำการเปลี่ยนแปลง (หลักสูตร ป.ย.ป.)
และโครงการต้นแบบแนวทางลดความเหลื่อมล้ำด้วยนวัตกรรมภาครัฐ
เพื่อประกอบการดำเนินการจัดทำหลักสูตรของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนในระยะต่อไป ส่วนการจัดให้มี
“สมัชชาตำบลเข้มแข็งแห่งชาติ” ทุกปี อาจใช้กลไกการประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบล
ซึ่งจัดปีละ ๑ ครั้ง เพื่อสรุปปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชนในจังหวัด
และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ ตามที่สำนักงาน
ก.พ.ร. เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
|
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
71 | ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย-มองโกเลีย ครั้งที่ 1 รวมทั้งดำเนินกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง | พณ. | 01/11/2565 | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า
(JTC) ไทย-มองโกเลีย ครั้งที่ ๑
รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ ๕-๖
กันยายน ๒๕๖๕ ณ กรุงอูลานบาตาร์ ประเทศมองโกเลีย และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามผลการประชุมฯ
เพื่อให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับมองโกเลียเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ตามตารางติดตามผลการประชุมฯ
รวมทั้งดำเนินกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง
ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ สรุปได้ ดังนี้ ๑.
สรุปผลการประชุมฯ เช่น (๑)
การค้าระหว่างไทยและมองโกเลียมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจาก ๓๕.๕๘
ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ๒๕๖๐ เป็น ๕๓.๙๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ๒๕๖๔
เพิ่มขึ้นร้อยละ ๕๑.๖๐ และตั้งเป้าหมายการค้าระหว่างกันที่ ๑๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ภายในปี ๒๕๗๐ (๒) การส่งเสริมการค้าและการลงทุน เช่น
การจัดกิจกรรมจับคู่นักลงทุนระหว่างไทยกับมองโกเลียในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพร่วมกัน
(๓)
ไทยขอให้มองโกเลียเร่งพิจารณาร่างความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน
และ (๔) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในการดำเนินความร่วมมือด้านต่าง
ๆ ได้แก่ เกษตร การท่องเที่ยว การขนส่งและโลจิสติกส์ และความร่วมมือทางวิชาการ ๒. การดำเนินกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
ไทยได้จัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายธุรกิจระหว่างนักธุรกิจมองโกเลียกับภาครัฐและเอกชนไทย
รวมถึงนักธุรกิจไทยที่ลงทุนในมองโกเลียเพื่อหารือเกี่ยวกับการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน |
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
72 | ขอความเห็นชอบต่อการแก้ไขเพิ่มเติมอนุสัญญาว่าด้วยองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (Convention on the International Maritime Organization : IMO Convention) | คค. | 01/11/2565 | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อการแก้ไขเพิ่มเติมอนุสัญญาว่าด้วยองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ
(Convention on the International Maritime
Organization : IMO Convention)
มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบทเกี่ยวกับองค์ประกอบ วาระการดำรงตำแหน่ง
องค์ประชุมของคณะมนตรี และภาษาที่ใช้ในการจัดทำอนุสัญญาว่าด้วยองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ
ซึ่งที่ประชุมสมัชชา IMO ได้มีมติเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๖๔
รับรองการแก้ไขเพิ่มเติมอนุสัญญาดังกล่าวแล้ว โดยจะมีผลใช้บังคับภายใน ๑๒ เดือน
กับสมาชิกทั้งหมด หลังจากที่สมาชิก IMO มีสมาชิกรวม ๑๗๕
ประเทศ ไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓
ยอมรับการแก้ไขเพิ่มเติมอนุสัญญาดังกล่าวด้วยการนำส่งตราสารยอมรับต่อเลขาธิการ IMO
โดยไทยในฐานะรัฐภาคีจะต้องส่งตราสารยอมรับการแก้ไขซึ่งเป็นการแสดงเจตนาให้การแก้ไขเพิ่มเติมมีผลผูกพันรัฐภาคีตามเนื้อหาที่แก้ไข
และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ
จัดทำตราสารยอมรับการแก้ไขเพิ่มเติมอนุสัญญาดังกล่าว ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
|
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
73 | ขออนุมัติโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง ระยะที่ 2 | กษ. | 01/11/2565 | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติ
ดังนี้ ๑. อนุมัติโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง
ระยะที่ ๒ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
โดยในส่วนของกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง
ระยะที่ ๒ จำนวน ๑,๐๕๐.๕ ล้านบาท
ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมประมง) ธนาคารออมสิน
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ทั้งนี้
ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมประมง) ร่วมกับธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเร่งรัดกระบวนการพิจารณาสินเชื่อของโครงการฯ
ระยะที่ ๑ และโครงการฯ ระยะที่ ๒ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้ผู้ประกอบการประมงที่เข้าร่วมโครงการทั้ง
๒ ระยะ
สามารถใช้ประโยชน์จากสินเชื่อตามโครงการดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์ ๒.
ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมประมง)
และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์
สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
และธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งข้อสังเกตของกระทรวงการคลัง เช่น
ควรพิจารณาคุณสมบัติของผู้ประกอบการประมงให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
และควรมีการกำกับ ติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการ เป็นต้น
ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย |
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
74 | การปรับขยายเพดานอัตราเงินเดือนขั้นสูงสุดของการท่าเรือแห่งประเทศไทย | คค. | 25/10/2565 | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการปรับขยายเพดานอัตราเงินเดือนขั้นสูงสุดของการท่าเรือแห่งประเทศไทย
โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ (๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๕) ดังนี้ ๑)
ระดับ ๑๖ ตำแหน่งรองผู้อำนวยการ จากอัตรา ๑๑๓,๕๒๐ บาท เป็นอัตรา ๑๔๒,๘๓๐ บาท ๒) ตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการ ๑๐๔,๓๑๐ บาท
เป็นอัตรา ๑๓๓,๗๗๐ บาท และ ๓) ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่าย
จากอัตรา ๙๕,๘๑๐ บาท เป็นอัตรา ๑๒๔,๗๗๐
บาท ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้กระทรวงคมนาคม
(การท่าเรือแห่งประเทศไทย) รับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงาน ก.พ.ร. เช่น
การท่าเรือแห่งประเทศไทยควรคำนึงถึงประเด็นความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์
เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐประกอบการพิจารณาเรื่องดังกล่าว
ควรพิจารณาค่าใช้จ่ายบุคลากรให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
และควรบริหารค่าใช้จ่ายด้วยความรอบคอบโดยเฉพาะการปรับขึ้นอัตราเงินเดือนควรสะท้อนกับผลการปฏิบัติงานได้ชัดเจน
ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย ทั้งนี้ ให้ดำเนินการให้ถูกต้อง เป็นไปตามกฎหมาย
ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
|
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
75 | ขอความเห็นชอบร่างจรรยาบรรณสำหรับกระบวนการระงับข้อพิพาทตามบทที่ 14 ของความตกลงการค้าเสรีระหว่างรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐชิลีและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย | พณ. | 25/10/2565 | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||
|
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
76 | ร่างแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2566-2570 | กค. | 25/10/2565 | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนี้ ๑. เห็นชอบร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจ พ.ศ. ๒๕๖๖-๒๕๗๐
โดยร่างแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจฯ มีสาระสำคัญเพื่อกำหนดเป้าหมาย นโยบาย
และทิศทางในการพัฒนารัฐวิสาหกิจ ให้สอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยยุทธศาสตร์ (พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๘๐)
แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๘๐) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ฉบับที่ ๑๓ และแผนพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ โดยให้กระทรวงเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดกรอบนโยบายการพัฒนาและทิศทางการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ
และมีวิสัยทัศน์เพื่อยกระดับขีดความสามารถรัฐวิสาหกิจไทยมุ่งสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ
และการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รวมทั้งได้กำหนดบทบาทของรัฐวิสาหกิจโดยพิจารณาจากวัตถุประสงค์การจัดตั้ง
รวมถึงแนวทางการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้มีความสอดคล้องกับแผนต่าง ๆ
ที่เกี่ยวข้อง
และกำหนดทิศทางหลักในการพัฒนารัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งให้เชื่อมโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ฉบับที่ ๑๓ ทั้ง ๑๓ หมุดหมาย
ซึ่งรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งจะดำเนินการตามบทบาทและภารกิจขององค์กร ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเสนอ
และให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจรับไปพิจารณาปรับปรุงทิศทางหลักในการพัฒนารัฐวิสาหกิจรายสาขา
โดยเพิ่มการส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจที่มีศักยภาพและมีผลประกอบการดีเข้ามามีบทบาทในการร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศให้มากขึ้นด้วย ๒.
ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงเจ้าสังกัด รัฐวิสาหกิจ
และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข
สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
และสำนักงาน ก.พ.ร. รวมทั้งข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เช่น ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานเจ้าสังกัด
รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้มีความรู้
ความสามารถ ทักษะ และสมรรถนะอย่างเหมาะสม เพื่อขับเคลื่อนภารกิจได้ตามเป้าหมาย
แจ้งให้กระทรวงเจ้าสังกัดและรัฐวิสาหกิจทราบล่วงหน้า
ในกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจมีข้อเสนอหรือแนวทางแก้ไขที่จำเป็นเร่งด่วนที่ค้นพบจากการติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานของรัฐวิสาหกิจ
เพื่อให้รัฐวิสาหกิจสามารถบริหารจัดการหรือแก้ไขปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์ ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย |
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
77 | การจัดทำร่างสัญญา IUCN Advisory Mission to the World Heritage property : Kaeng Krachan Forest Complex (THAILAND) | ทส. | 25/10/2565 | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติ
ดังนี้ ๑. เห็นชอบการจัดทำร่างสัญญา
IUCN Advisory Mission to the World Heritage
property : Kaeng Krachan Forest Complex (THAILAND) โดยให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ
สัตว์ป่า และพันธุพืช หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในสัญญา IUCN
Advisory Mission to the World Heritage property : Kaeng Krachan Forest Complex
(THAILAND) ร่วมกับผู้ประสานงานศูนย์มรดกโลกองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ
(IUCN) โดยร่างสัญญาฯ จัดทำขึ้นระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ
สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ IUCN มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดขอบเขตงานตามภารกิจการให้คำปรึกษาในการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก
โดยผู้เชี่ยวชาญ IUCN กลุ่มป่าแก่งกระจาน (ประเทศไทย)
ประกอบด้วย การประเมินสภาพการอนุรักษ์พื้นที่มรดกโลก
การจัดให้มีการหารือกับเจ้าหน้าที่ของประเทศไทยทั้งในระดับชาติ อำเภอ และระดับท้องถิ่น
รวมทั้งผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ และผู้มีส่วนได้เสีย
การจัดทำรายงานข้อเสนอแนะหลังจากเสร็จสิ้นการลงพื้นที่ภาคสนาม
ตลอดจนการระบุค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของผู้เชี่ยวชาญ IUCN ที่ประเทศไทยต้องรับผิดชอบ
โดยมีแนวทางการสนับสนุนให้รัฐภาคีเพิ่มกระบวนการปรึกษาและหารือร่วมกันกับ IUCN
ในการเตรียมพร้อมสำหรับการทบทวนสภาพทั่วไปของการอนุรักษ์
รวมถึงการมาปฏิบัติภารกิจของผู้เชี่ยวชาญ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
และหากมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนร่างสัญญาฯ
ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้
ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการได้
โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งให้ชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่
๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๘ (เรื่อง
การจัดทำหนังสือสัญญาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ)
ทั้งนี้ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า
และพันธุ์พืช) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของสำนักงบประมาณ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และข้อสังเกตของสำนักงานอัยการสูงสุด
เช่น ค่าใช้จ่ายสำหรับการมาปฏิบัติภารกิจในประเทศไทยของผู้เชี่ยวชาญจาก IUCN
ให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้อง
และควรเตรียมการเพื่อรองรับการปฏิบัติภารกิจของผู้เชี่ยวชาญจาก IUCN ให้เป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาอย่างครบถ้วนเพื่อให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์สูงสุด
เป็นต้น ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย ๒.
ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเร่งประสานและติดตามการดำเนินภารกิจให้คำปรึกษาในการเตรียมการทบทวนสถานภาพทั่วไปในการอนุรักษ์ของแหล่งมรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจานของผู้เชี่ยวชาญจาก
IUCN อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประเทศไทยสามารถรายงานผลการดำเนินการดังกล่าวแก่คณะกรรมการมรดกโลกได้ทันภายในระยะที่กำหนดไว้
|
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
78 | การเสนอความเห็นการขอจัดตั้งกองทุนพัฒนาวิสาหกิจและกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ของคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน | กค. | 18/10/2565 | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบผลการพิจารณาการขอจัดตั้งกองทุนพัฒนาวิสาหกิจ
ตามร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาวิสาหกิจ พ.ศ. ....
มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุน
และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับวิสาหกิจที่มีศักยภาพ
โดยมุ่งเน้นการให้กู้ยืมและให้ความช่วยเหลือแก่ SMEs ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายและเป็นนิติบุคคลที่ไม่ใช่คนต่างด้าวให้มีประสิทธิภาพและขีดความสามารถเพิ่มขึ้น
และกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ตามร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับที่ ..
พ.ศ. .... มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม ศึกษา วิจัย และพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้เป็นไปตามนโยบายของประเทศในด้านเศรษฐกิจ
สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมทั้งรักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อผลประโยชน์ของชาวไร่อ้อย
โรงงาน และผู้บริโภค เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ตามที่คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนเสนอ
และให้กระทรวงอุตสาหกรรม
สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นและข้อสังเกตของคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
รวมทั้งให้รับข้อสังเกตของกระทรวงพาณิชย์และความเห็นของสำนักงบประมาณ
ที่เห็นว่ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้องค์การการค้าโลกด้วยงบประมาณจากภาครัฐ
และกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และกลุ่มเป้าหมายในการให้เงินทุนสนับสนุนให้ชัดเจน
ไปพิจารณาดำเนินการด้วย |
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
79 | การขออนุมัติดำเนินงานก่อสร้างโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง-ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ของกรมทางหลวงชนบท | คค. | 18/10/2565 | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการให้กรมทางหลวงชนบทดำเนินการก่อสร้างโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา
ตำบลเกาะกลาง-ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ภายในกรอบวงเงิน ๑,๘๔๙.๕
ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าก่อสร้าง จำนวน ๑,๘๐๐ ล้านบาท ในอัตราส่วนของแหล่งเงินกู้เงินงบประมาณ
๗๐:๓๐ และค่าควบคุมงาน ใช้จ่ายจากเงินงบประมาณ จำนวน ๔๙.๕
ล้านบาท ในอัตราร้อยละ ๒.๗๕ ของวงเงินค่าก่อสร้าง
โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและแหล่งเงินกู้ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ
โดยให้กระทรวงการคลังพิจารณาจัดหาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสมสำหรับวงเงินงบประมาณขอให้กรมทางหลวงชนบทเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณรองรับตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป
ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
โดยในส่วนของแหล่งเงินกู้ให้ใช้เงินกู้ต่างประเทศตามความเห็นของกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ ให้กระทรวงคมนาคม (กรมทางหลวงชนบท) รับความเห็นของกระทรวงการคลัง
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เช่น ให้การสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ
เพื่อจัดทำแนวทางการบรรเทาผลกระทบให้สอดคล้องกับมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมและสังคม (Environmental
and Social Standard : ESS)
ของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เร่งรัดการดำเนินการตามกฎหมาย
และระเบียบที่เกี่ยวข้อง อาทิ การขออนุมัติรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
การขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรี การห้ามใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลน
และการขออนุญาตเข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
และการขอความเห็นชอบการขอใช้ที่ดินของส่วนราชการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
เพื่อให้สามารถก่อสร้างโครงการฯ ได้ตามแผนการดำเนินงานต่อไป กรมทางหลวงชนบท
และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
พิจารณากำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยในการใช้ทางร่วมกันของยานพาหนะต่าง ๆ อาทิ
การติดตั้งป้ายกำหนดความเร็วในบริเวณเขตชุมชนและจุดเสี่ยงในการสัญจร
เพื่อรองรับปริมาณการสัญจรทางถนนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการดำเนินโครงการฯ เป็นต้น
ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย |
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
80 | การขออนุมัติดำเนินงานก่อสร้างโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา - อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ของกรมทางหลวงชนบท | คค. | 18/10/2565 | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนี้ ๑. อนุมัติในหลักการให้กรมทางหลวงชนบทดำเนินการก่อสร้างโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา
อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา-อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ภายในกรอบวงเงินทั้งสิ้น
๔,๘๒๙.๒๕
ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าก่อสร้าง จำนวน ๔,๗๐๐ ล้านบาท ในอัตราส่วนของแหล่งเงินกู้
: ต่อเงินงบประมาณเป็น ๗๐ : ๓๐
และค่าควบคุมงาน ใช้จ่ายจากเงินงบประมาณ จำนวน ๑๒๙.๒๕ ล้านบาท ในอัตราร้อยละ ๒.๗๕ ของวงเงินค่าก่อสร้าง
โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี และแหล่งเงินกู้ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ
หากกรมทางหลวงชนบทจะเริ่มดำเนินโครงการฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖
จะต้องเร่งรัดดำเนินการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้แล้วเสร็จเพื่อรองรับการดำเนินโครงการก่อสร้างดังกล่าว ต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ โดยในส่วนของแหล่งเงินกู้ให้ใช้เงินกู้ต่างประเทศตามความเห็นของกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ ให้กระทรวงคมนาคม (กรมทางหลวงชนบท)
และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการคลัง
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เช่น
หน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการตามบทบัญญัติในมาตรา ๒๗ ให้ครบถ้วน
ให้กรมทางหลวงชนบทดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
รวมทั้งดำเนินการตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
ในการประชุมดังกล่าวอย่างเคร่งครัดด้วย
ให้กรมทางหลวงชนบทและองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาพิจารณาตรวจสอบและปรับปรุงจุดเสี่ยงบนถนนเชื่อมต่อ
(พท. ๔๐๐๔ และถนนท้องถิ่น) โดยพาะในบริเวณชุมชน ให้มีความเหมาะสมตามหลักวิศวกรรม
เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ถนนและประชาชนในพื้นที่ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากกรณีมีโครงการฯ
ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย ๒. ให้กระทรวงคมนาคมประสานการดำเนินโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา-อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด
เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลาโดยเฉพาะโลมาอิรวดี ทั้งนี้
ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณากำหนดแนวทางที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมในการอนุรักษ์
คุ้มครอง และขยายพันธุ์โลมาอิรวดี
รวมถึงการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในบริเวณทะเลสาบสงขลาให้เหมาะสมและยั่งยืนต่อไปด้วย |