ค้นหาข้อมูลมติคณะรัฐมนตรี
ค้นหาเพิ่มเติม
หน้าที่ 7 จากทั้งหมด 102 หน้า แสดงรายการที่ 121 - 140 จากข้อมูลทั้งหมด 2031 รายการ
ลำดับ | ชื่อเรื่อง | ส่วนราชการ เจ้าของเรื่อง |
วันที่มีมติ | ||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
121 | รายงานงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ของการยางแห่งประเทศไทย | กษ. | 13/12/2565 | ||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ
๒๕๖๖ ของการยางแห่งประเทศไทย ในส่วนงบทำการ จำนวน ๑๒,๙๑๕.๙๐๙๙ ล้านบาท
ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
|
|||||||||||||||||||||
122 | รายงานผลการเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ | พณ. | 13/12/2565 | ||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาของรองนายกรัฐมนตรี
(นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
และคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างวันที่ ๓๑ ตุลาคม-๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ ๑. รองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ฯ) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์เข้าร่วมรับเสด็จทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา
สิริวัฒนาพรรณวดี องค์ประธานในพิธีเปิดงาน American Film Market (Thai
Night) เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ณ โรงแรม Hotel Casa
del Mar นครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา โดยจัดขึ้นภายใต้ธีม THAILAND
TRANSFORMED ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการพลิกโฉมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในทุกมิติ ๒. กิจกรรมเจรจาธุรกิจในงาน American Film
Market 2022 ระหว่างวันที่ ๑-๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
มีผู้ประกอบการไทยร่วมงาน จำนวน ๘ ราย ผู้ประกอบการต่างชาติ จำนวน ๙๙ ราย จาก ๒๕
ประเทศ มีการเจรจาธุรกิจ รวม ๒๖๙ ครั้ง มูลค่าการค้า รวม ๘๔๙.๖๘ ล้านบาท นอกจากนี้
มีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างบริษัทของไทยกับบริษัทต่างชาติเพื่อร่วมผลิตผลงานภาพยนตร์เรื่องอินทรีแดง
(๒๐๒๔) ๓. การหารือกับผู้บริหารบริษัทต่าง ๆ
เช่น บริษัท Space
Exploration Technologies Corp. หรือ SpaceX เป็นบริษัทที่ออกแบบและผลิตยานอวกาศ
รวมถึงธุรกิจการเดินทางสู่อวกาศ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินโครงการ Starlink
ซึ่งเป็นโครงข่ายดาวเทียมวงโคจรระดับต่ำเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมกว่า
๔๔ ประเทศทั่วโลก และบริษัท Overhill Farms Inc. เป็นธุรกิจในเครือบริษัท
CP Foods North America (CPF) ที่ผลิตอาหารแช่แข็งพร้อมรับประทานในรูปแบบต่าง
ๆ ให้กับห้างค้าปลีกที่มีสาขาทั่วสหรัฐอเมริกา โดยบริษัท CPF
มีนโยบายผลักดันและส่งเสริมอาหารไทยต้นตำรับ (Authentic Thai Food) ไปทั่วโลก
โดยปัจจุบันได้นำผัดไทยพร้อมรับประทานไปจำหน่ายในห้างค้าส่งขนาดใหญ่ที่มีสาขาครอบคลุมทั่วสหรัฐอเมริกา ๔. แนวทางการดำเนินการต่อไป ได้แก่ (๑)
ผลักดันการส่งออกธุรกิจบริการเอนเตอร์เทนเมนต์และแอนิเมชันของไทย (๒)
ส่งเสริมสินค้าอุตสาหกรรมอาหารไทยในฐานะครัวของโลก และ (๓)
จัดกิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าอาหารไทยผ่านกลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อความคิดและการตัดสินใจของกลุ่มเป้าหมาย
(Influencer)
|
|||||||||||||||||||||
123 | การจัดตั้งสถาบันคลังข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (องค์การมหาชน) [ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันคลังข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ....] | ดศ. | 13/12/2565 | ||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติ
ดังนี้ ๑. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันคลังข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ
(องค์การมหาชน) พ.ศ.
.... มีสาระสำคัญเป็นการยกฐานะของสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ
(Government Big Data Institute : GBDI)
หน่วยงานภายในภายใต้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
ให้เป็นสถาบันคลังข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (National Big
Data Institute : NBDI) ซึ่งเป็นองค์การมหาชน
เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อน วิเคราะห์
และบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศโดยตรง ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ
และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้แก้ไขชื่อหน่วยงาน ตัดคำว่า
“คลัง” และ “แห่งชาติ” ออก เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงาน
ตลอดจนมติคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๗ ที่กำหนดว่า
“ไม่ควรใช้คำว่า “แห่งชาติ”
ในการกำหนดชื่อหน่วยงานของรัฐเนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเอกรัฐ
และหน่วยงานของรัฐทุกแห่งทำหน้าที่ในฐานะ “แห่งชาติ” อยู่แล้ว” และให้รับความเห็นของกระทรวงการคลัง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สำนักงาน ก.พ. และสำนักงบประมาณ เช่น การกู้ยืมเงินของ NDBI ต้องทำด้วยความระมัดระวัง
รอบคอบ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ (Default Risk)
โดยจะต้องยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะและกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ
ตลอดจนระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
ควรให้ผู้บริหารหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับมิติด้านเศรษฐกิจ
สังคมและสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นกรรมการด้วย
ให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานและพิจารณาปรับเปลี่ยนองค์กรรูปแบบใหม่
เมื่อได้ดำเนินการจัดตั้ง NDBI ครบ ๒ ปี เป็นต้น ไปประกอบการพิจารณาด้วย
แล้วดำเนินการต่อไปได้ |
|||||||||||||||||||||
124 | การขอความเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมผู้นำของการประชุมสุดยอดอาเซียน - สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ ค.ศ. 2022 | กต. | 13/12/2565 | ||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมผู้นำ
(Joint
Leaders’ Statement) ของการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโปร
สมัยพิเศษ ค.ศ. ๒๐๒๒ (ASEAN-EU Commemorative Summit) และให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ
ซึ่งร่างแถลงการณ์ร่วมฯ
เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองในระดับผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียนและสหภาพยุโรปในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในสาขา
ได้แก่ (๑) สันติภาพและความมั่นคง (๒) ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า (๓) ความเชื่อมโยงการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล
และการลดช่องว่างด้านการพัฒนา (๔) การพัฒนาที่ยั่งยืน สิ่งแวดล้อม
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพลังงาน (๕) สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙
(โควิด ๑๙) และ (๖)
ประเด็นระหว่างประเทศและภูมิภาคเพื่อขับเคลื่อนความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน
ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ
และหากมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนร่างแถลงการณ์ร่วมฯ
ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้
ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง
พร้อมทั้งใช้ชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว
ทั้งนี้
ให้กระทรวงการต่างประเทศรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเห็นว่า
กระทรวงการต่างประเทศจำเป็นต้องวิเคราะห์และประเมินผลการดำเนินงานร่างแถลงการณ์ร่วมฯ
รวมถึงสื่อสารผลลัพธ์การดำเนินงานดังกล่าวให้สาธารณชนและทุกภาคส่วนได้รับรู้ถึงประโยชน์ที่ประเทศไทยพึงจะได้รับ
ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย |
|||||||||||||||||||||
125 | ผลการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 28 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง | คค. | 13/12/2565 | ||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน
(ASEAN
Transport Ministers Meeting : ATM) ครั้งที่ ๒๘ และการประชุมอื่น ๆ
ที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ ๑๕-๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๕ ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ)
เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมฯ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ ๑. การประชุม ATM ครั้งที่ ๒๘ เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๕
โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของสาธารณรัฐอินโดนีเซียเป็นประธาน มีผลลัพธ์การประชุมที่สำคัญ
เช่น (๑) รับทราบการดำเนินการตามกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดนผ่านระบบศุลกากรผ่านแดนอาเซียน
และ (๒)
รับรองหลักการสำหรับการจัดทำกฎระเบียบว่าด้วยการบริการด้านการขนส่งโดยใช้แอปพลิเคชันสำหรับการขนส่งผู้โดยสารในอาเซียน ๒. การประชุม ATM-จีน ครั้งที่ ๒๑ เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๕ ที่ประชุมได้รับทราบเรื่องต่าง
ๆ เช่น (๑) ความคืบหน้าการดำเนินโครงการใบรับรองเรือแบบอิเล็กทรอนิกส์/ระบบการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจสำหรับการนำเข้า
ส่งออก และโลจิสติกส์ทางน้ำ และ (๒) ความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านการขนส่งอาเซียน-จีน
ปี ๒๕๖๔-๒๕๖๘ ๓. การประชุม ATM-ญี่ปุ่น ครั้งที่ ๒๐ เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๕
มีผลลัพธ์การประชุมที่สำคัญ เช่น (๑) รับทราบความคืบหน้าการดำเนินโครงการ จำนวน ๒๗
โครงการ ภายใต้แผนงานความร่วมมือด้านการขนส่งอาเซียน-ญี่ปุ่น ปี ๒๕๖๓-๒๕๖๔ และ (๒)
รับทราบความคืบหน้าการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงด้านการขนส่งทางอากาศในภูมิภาคระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น ๔. การประชุม ATM-เกาหลี ครั้งที่ ๑๓ เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๕ มีผลลัพธ์การประชุมที่สำคัญ
เช่น (๑) รับทราบผลการประชุมความร่วมมือด้านการขนส่งอาเซียน-เกาหลี ครั้งที่ ๑๒
เพื่อมุ่งสู่การขนส่งที่ยั่งยืนและปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และ (๒)
รับทราบความคืบหน้าการดำเนินโครงการ/กิจกรรมภายใต้แผนงานความร่วมมือด้านการขนส่งระหว่างอาเซียน-เกาหลี
ปี ๒๕๖๔-๒๕๖๘ ๕. การรับรองถ้อยแถลงประธานการประชุม
รัฐมนตรีขนส่งอาเซียนได้รับรอง (๑)
ถ้อยแถลงประธานการประชุม ATM
ครั้งที่ ๒๘ (๒) ถ้อยแถลงประธานร่วมการประชุม ATM-จีน ครั้งที่ ๒๑ (๓) ถ้อยแถลงประธานร่วมการประชุม ATM-ญี่ปุ่น ครั้งที่ ๒๐ และ (๔) ถ้อยแถลงประธานร่วมการประชุม ATM-เกาหลี ครั้งที่ ๑๓ โดยมีการแก้ไขถ้อยคำและปรับปรุงเพิ่มเติมเนื้อหาให้มีความถูกต้องในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบไว้เมื่อวันที่
๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๕ ๖. การลงนามความตกลง ๒ ฉบับ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
(นายอธิรัฐฯ) ลงนามความตกลง ๒ ฉบับ ได้แก่ (๑) ความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศระหว่างอาเซียน-สหภาพยุโรป
เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรป และ (๒) ความตกลงอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางอากาศและทางทะเล
เพื่อพัฒนาเสริมสร้างความร่วมมือในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางอากาศและทางทะเลระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน
|
|||||||||||||||||||||
126 | ผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) ครั้งที่ 2/2565 | นร.11 สศช | 13/12/2565 | ||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ
(กบส.) ครั้งที่ ๒/๒๕๖๕
เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๕
พร้อมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติและรายงานให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
เพื่อนำเสนอคณะกรรมการระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศตามขั้นตอนต่อไป
และเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๖๖-๒๕๗๐
รวมทั้งเห็นชอบการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๑ (เรื่อง
ผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ
ครั้งที่ ๑/๒๕๖๑)
เพื่อมอบหมายให้กรมศุลกากรเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการและพัฒนาระบบ
National Single Window และกำหนดขอบเขตหน้าที่ของบริษัท
โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ให้เหมาะสม ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศเสนอ
และให้กระทรวงการคลัง (กรมศุลกากร) กระทรวงคมนาคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการอุดมศึกษา
วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ.ร.
และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกรวมทั้งข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
เช่น
ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับแผนการรปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อมาดำเนินการในโอกาสแรก
และให้หน่วยงานที่รับผิดชอบร่วมกับ reprocess เพื่อลดกระบวนงานให้เหลือเท่าที่จำเป็นเท่านั้นและกำหนดกรอบเวลาการพัฒนาระบบ
NSW ให้แล้วเสร็จไว้อย่างชัดเจน
ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
|
|||||||||||||||||||||
127 | ขอผ่อนผันการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ เพื่อการดำเนินโครงการหลวง จำนวน 39 โครงการ | ทส. | 13/12/2565 | ||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติ ๑. อนุมัติผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรี
เพื่อดำเนินโครงการหลวง จำนวน ๓๙ โครงการ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
ดังนี้
๑.๑ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๓๓
ในการอนุญาตให้มูลนิธิโครงการหลวงเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ในเขตพื้นที่ต้นน้ำชั้นที่
๑
๑.๒ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๐ และวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๓๕
ในการอนุญาตให้มูลนิธิโครงการหลวงเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์เพิ่มเติม
(โซนซี)
๑.๓ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๒๘ วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๙
และวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘
ในการอนุญาตให้มูลนิธิโครงการหลวงเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ ๑ เอ
ลุ่มน้ำชั้นที่ ๑ บี และลุ่มน้ำชั้นที่ ๒ ๒. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เช่น (๑)
การดำเนินกิจกรรมของโครงการหลวงจำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อพื้นที่ต้นน้ำและทรัพยากรป่าไม้ในบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์
(๒)
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำที่สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
๒๐ ปี ด้วย ตัวอย่างเช่น การอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ การรักษาสมดุลของระบบนิเวศทั้งลุ่มน้ำ
และ (๓) หากมีการดำเนินการใด ๆ ในแม่น้ำลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ ทะเล หรือบนชายหาดของทะเลต้องดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย
พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม และขอให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ
ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยเคร่งครัด
ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย |
|||||||||||||||||||||
128 | แผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาล และช่วงวันหยุด พ.ศ. 2566 | มท. | 13/12/2565 | ||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาล
และช่วงวันหยุด พ.ศ. ๒๕๖๖ ประกอบด้วย (๑) แผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์
พ.ศ. ๒๕๖๖ ภายใต้การรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” และ
(๒)
แผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงวันหยุดที่มีวันหยุดราชการติดต่อกัน ๔
วันขึ้นไป หรือวันหยุดราชการติดต่อกัน ๔ วันขึ้นไป ตามมติคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้
คณะกรรมการยโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน แห่งชาติ ในการประชุม ครั้งที่ ๒/๒๕๖๕ เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๕
ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ประธานกรรมการและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเสนอ
|
|||||||||||||||||||||
129 | การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 19 มีนาคม 2566) | นร.08 | 13/12/2565 | ||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนี้ ๑. เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส
ยกเว้นอำเภอศรีสาคร อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้ง และอำเภอสุคิริน จังหวัดปัตตานี
ยกเว้นอำเภอยะหริ่ง อำเภอไม้แก่น
และอำเภอแม่ลาน และจังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง และอำเภอกาบัง ออกไปอีก ๓ เดือน ตั้งแต่วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๕ จนถึงวันที่ ๑๙ มีนาคม
๒๕๖๖ ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ ๒. เห็นชอบและรับทราบร่างประกาศ ดังนี้ ๒.๑ เห็นชอบร่างประกาศ เรื่อง
การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส
ยกเว้นอำเภอศรีสาคร อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้ง และอำเภอสุคิริน จังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอยะหริ่ง อำเภอไม้แก่น
และอำเภอแม่ลาน และจังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง และอำเภอกาบัง และร่างประกาศ
เรื่อง การให้ประกาศที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงยังคงมีผลใช้บังคับ ๒.๒ รับทราบร่างประกาศ เรื่อง
การให้ประกาศและคำสั่งนายกรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงยังคงมีผลใช้บังคับ รวม ๓ ฉบับ
ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว
และให้ดำเนินการต่อไปได้ ๓.
ให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติได้รับยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่
๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ (เรื่อง การเสนอเรื่องเร่งด่วนต่อคณะรัฐมนตรี)
ในการเสนอเรื่องนี้
|
|||||||||||||||||||||
130 | แนวทางการประชุมสภาผู้แทนราษฎร | ปสส. | 13/12/2565 | ||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแนวทางการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ชุดที่ ๒๕ ปีที่ ๔ ครั้งที่ ๑๒ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันพุธที่ ๑๔
ธันวาคม ๒๕๖๕ ครั้งที่ ๑๓ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันพฤหัสบดีที่ ๑๕
ธันวาคม ๒๕๖๕ และครั้งที่ ๑๔ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ วันศุกร์ที่
๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๕ ตามที่ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรเสนอ
|
|||||||||||||||||||||
131 | ร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษาและการดำเนินการของสถานศึกษาในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... | ศธ. | 13/12/2565 | ||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษาและการดำเนินการของสถานศึกษาในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
(ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้สถานศึกษาที่มีนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์อยู่ในสถานศึกษาต้องไม่ให้นักเรียนหรือนักศึกษานั้นออกจากสถานศึกษาดังกล่าว
เว้นแต่เป็นการย้ายสถานศึกษาตามเจตนารมณ์ของนักเรียนหรือนักศึกษาที่ตั้งครรภ์
ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว
และให้ดำเนินการต่อไปได้ |
|||||||||||||||||||||
132 | รายงานผลการขับเคลื่อนนโยบายศูนย์ราชการสะดวก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 | นร.01 | 13/12/2565 | ||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการขับเคลื่อนนโยบายศูนย์ราชการสะดวก
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ โดยมีผลการดำเนินงาน ได้แก่ (๑) การกำหนดหลักเกณฑ์
วิธีการประเมิน และการรับรองมาตรฐาน GECC (๒)
การส่งเสริมผลักดันให้หน่วยงานของรัฐมีการพัฒนาการให้บริการประชาชนตามมาตรฐาน GECC
(๓) การตรวจสอบประเมินมาตรฐาน GECC (๔)
ผลการรับรองมาตรฐาน GECC (๕)
การจัดพิธีมอบโล่และตรารับรองมาตรฐาน GECC (๖)
การตรวจประเมินการรักษามาตรฐาน GECC (๗)
ข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อน GECC และ (๘) ผลที่คาดว่าจะได้รับ
ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ
|
|||||||||||||||||||||
133 | (ร่าง) กรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566-2570 | อว. | 13/12/2565 | ||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ (ร่าง) กรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
พ.ศ. ๒๕๖๖-๒๕๗๐ ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ ทั้งนี้
ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์
วิจัยและนวัตกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ
กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงบประมาณ เช่น เห็นควรมุ่งเน้นให้มีการปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลกมีมาตรฐานและรับรองคุณภาพผลงานวิจัย
พัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถครอบคลุมในทุกมิติ
เน้นการขับเคลื่อนให้ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม มุ่งผลสัมฤทธิ์ ลดช่องว่างของการเข้าถึงโอกาส
ด้านการพัฒนาอาชีพ การศึกษาเรียนรู้และการเข้าถึงเทคโนโลยี นวัตกรรม
สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ
และความไม่เสมอภาคทางสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ควรคำนึงถึงความต้องการจำเป็นต่อระบบบริการสาธารณสุขไทยในปัจจุบันและอนาคต
การยกระดับระบบบริการของสังคมสูงวัย การลดอัตราการตายโรคสำคัญ
การเสริมความเข้มแข็งของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ
ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการ โดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เป็นต้น
ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย |
|||||||||||||||||||||
134 | การจัดทำบัญชีบริการดิจิทัลเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการดิจิทัลของประเทศไทย (Digital Startup) | ดศ. | 13/12/2565 | ||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการจัดทำบัญชีบริการดิจิทัลเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการดิจิทัลของประเทศไทย (Digital
Startup) ได้มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นหน่วยงานจัดทำบัญชีบริการดิจิทัล
และเป็นหน่วยงานตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ประกอบการดิจิทัลและบริการดิจิทัลที่ขอขึ้นทะเบียนบัญชีดิจิทัล
และมอบหมายให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง พิจารณาผลักดันบัญชีบริการดิจิทัลเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
และเป็นหนึ่งในหมวดพัสดุที่รัฐต้องส่งเสริมหรือสนับสนุน
เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการดิจิทัลร่วมพัฒนาระบบราชการไทย ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ
และให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล)
รับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา
วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงบประมาณ
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงาน ก.พ.ร. รวมทั้งข้อสังเกตของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
เช่น
ควรคำนึงถึงการลดต้นทุนของการจัดทำบริการดิจิทัลผู้ประกอบการวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น
(Digital Startup) และช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ควรมีผู้แทนของกรมต่าง
ๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีส่วนร่วม คำนึงถึงความประหยัด ความคุ้มค่า
ผลสัมฤทธิ์ที่จะได้รับเป็นสำคัญ ควรพิจารณากำหนดให้มีคณะทำงานหรือคณะกรรมการจัดทำบัญชีบริการดิจิทัลที่ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
อาทิ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
กรมทรัพย์สินทางปัญญา สำนักงานสิทธิบัตรในประเทศไทย
เพื่อให้เกิดการบูรณาการและประโยชน์จากองค์ความรู้ ฐานข้อมูล
และความเชี่ยวชาญของบุคลากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป |
|||||||||||||||||||||
135 | รายงานผลการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ประจำปี 2563 และประจำปี 2564 | พม. | 06/12/2565 | ||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘ ประจำปี ๒๕๖๓ และประจำปี ๒๕๖๔
ตามมติคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ในการประชุมครั้งที่
๑/๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๔ และครั้งที่ ๑/๒๕๖๕ เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม
๒๕๖๕ โดยมีสาระสำคัญประกอบด้วย (๑) ผลการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติฯ ประจำปี ๒๕๖๓
และประจำปี ๒๕๖๔ ของคณะกรรมการ ๓ คณะ ได้แก่
คณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ เช่น
การปรับปรุงมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน
คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ เช่น
รับพิจารณาคำร้องที่เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ
และคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ เช่น การจ่ายเงินชดเชย
เยียวยาหรือบรรเทาทุกข์แก่ผู้เสียหายจากการถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศและสนับสนุนโครงการเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศให้แก่หน่วยงาน/องค์กรต่าง
ๆ (๒) ผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติฯ และ (๓)
ข้อท้าทายและการดำเนินงานในระยะต่อไปเพื่อให้การปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติฯ
มีประสิทธิภาพ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ
|
|||||||||||||||||||||
136 | การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (นายโสภณ เมฆธน) | นร.04 | 06/12/2565 | ||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแต่งตั้ง นายโสภณ เมฆธน เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีอีกวาระหนึ่ง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๒๕
ธันวาคม ๒๕๖๕ เป็นต้นไป ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ
|
|||||||||||||||||||||
137 | การแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี | นร.04 | 06/12/2565 | ||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ
ดังนี้ ๑. คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๓๐๖/๒๕๖๕ เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี
และมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี
และปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี
ในกรณีที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติราชการได้หรือไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง
ลงวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๖๕ ๒. คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๓๐๗/๒๕๖๕ เรื่อง
แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี
ลงวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๖๕ ๓. คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๓๐๘/๒๕๖๕ เรื่อง
แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี
และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง
ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๖๕
|
|||||||||||||||||||||
138 | รายงานผลการติดตามและการประเมินผลการดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายใต้กลไกเครดิตร่วม (Joint Crediting Mechanism: JCM) | ทส. | 06/12/2565 | ||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการติดตามและการประเมินผลการดำเนินโครงการต่าง
ๆ ภายใต้กลไกเครดิตร่วม (Joint Crediting
Mechanism : JCM) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ (๑)
การสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นในการพัฒนาโครงการต้นแบบโดยญี่ปุ่นได้ให้เงินทุนสนับสนุนในการพัฒนาโครงการฯ
จำนวน ๔๙ โครงการ คิดเป็นมูลค่า ๓,๐๑๘ ล้านบาท
มีผู้รับทุนเป็นบริษัทเอกชนไทย จำนวน ๔๕ แห่ง
โดยมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้เท่ากับ ๒๖๒,๓๕๗
ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (๒) สถานภาพการดำเนินโครงการ โครงการต้นแบบ
JCM ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว จำนวน ๑๑ โครงการ
มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้เท่ากับ ๕๘,๐๙๖ ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
และมีโครงการที่ได้รับการรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิต จำนวน ๕ โครงการ
มีปริมาณคาร์บอนเครดิตเท่ากับ ๔,๐๓๒
ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
|
|||||||||||||||||||||
139 | ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลไร่หลักทอง ตำบลบ้านช้าง ตำบลนาวังหิน ตำบลนาเริก ตำบลหมอนนาง อำเภอพนัสนิคม และตำบลท่าบุญมี อำเภอเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี พ.ศ. .... | กษ. | 06/12/2565 | ||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนี้ ๑. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน
ในท้องที่ตำบลไร่หลักทอง ตำบลบ้านช้าง ตำบลนาวังหิน ตำบลนาเริก ตำบลหมอนนาง
อำเภอพนัสนิคม และตำบลท่าบุญมี อำเภอเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี พ.ศ. ....
มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลไร่หลักทอง ตำบลบ้านช้าง
ตำบลนาวังหิน ตำบลนาเริก ตำบลหมอนนาง อำเภอพนัสนิคม และตำบลท่าบุญมี
อำเภอเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี เพื่อประโยชน์แก่การชลประทาน
ในการก่อสร้างคลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำพร้อมอาคารประกอบตามโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง
รัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชลบุรี ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ |
|||||||||||||||||||||
140 | การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต (1. ศาสตราจารย์สหธน รัตนไพจิตร ฯลฯ จำนวน 5 คน) | กค. | 06/12/2565 | ||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต จำนวน ๕ คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสองปี
โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ ๖ ธันวาคม ๒๕๖๕) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
ดังนี้ ๑. ศาสตราจารย์
ดร. สหธน รัตนไพจิตร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านคุ้มครองผู้บริโภค ๒. นางสุนทรีย์
ส่งเสริม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านคุ้มครองผู้บริโภค ๓. นายชาญชัย
บุญญฤทธิ์ไชยศรี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการเงินการธนาคาร ๔. นางประราลี รัตน์ประสาทพร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านคอมพิวเตอร์
|