ค้นหาข้อมูลมติคณะรัฐมนตรี
ค้นหาเพิ่มเติม
หน้าที่ 6 จากทั้งหมด 46 หน้า แสดงรายการที่ 101 - 120 จากข้อมูลทั้งหมด 902 รายการ
ลำดับ | ชื่อเรื่อง | ส่วนราชการ เจ้าของเรื่อง |
วันที่มีมติ | |||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
101 | การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (จำนวน 6 คน 1. ศาสตราจารย์ สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ฯลฯ) | ยธ | 05/06/2561 | |||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติ
๑. อนุมัติแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย รวม ๖ คน (แทนผู้ที่ดำรงตำแหน่งครบวาระ) โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (๕ มิถุนายน ๒๕๖๑) เป็นต้นไป ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ดังนี้ ๑.๑ ศาสตราจารย์สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ประธานกรรมการ ๑.๒ นายรอยล จิตรดอน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ๑.๓ คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ๑.๔ นายภัคพล งามลักษณ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ๑.๕ ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ๑.๖ นายสุรงค์ บูลกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ๒. ให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยในครั้งต่อไปให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาของกฎหมายอย่างเคร่งครัด ตามนัยของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ เรื่อง การดำเนินการแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาตามกฎหมาย ทั้งนี้ การสรรหาประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิครั้งต่อไปให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณาทบทวนระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๔ ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การสรรหาประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการองค์การมหาชน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ตามความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. ๓. ให้สำนักงาน ก.พ.ร. รับข้อสังเกตของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีกรณีการเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ไม่ได้ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการบริหารสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย รวมทั้งกระทรวงยุติธรรมยังไม่ได้มีการแก้ไขระเบียบให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐ เรื่อง ผลการดำเนินการตามมาตรา ๕/๘ แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๙ ของสำนักงาน ก.พ.ร. ในขณะที่องค์การมหาชนอื่น ๆ เช่น ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ได้มีการแก้ไขระเบียบและนำเสนอคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแล้ว ดังนั้น สำนักงาน ก.พ.ร. จึงควรกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจนเพื่อให้การสรรหาและแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการองค์การมหาชนเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
|
||||||||||||||||||||||||||||||||||||
102 | ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี | นร | 05/06/2561 | |||||||||||||||||||||||||||||||||
ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการด้านเศรษฐกิจ ดังนี้
๑. ตามที่ประธานสมาคมการค้า Air Business College พร้อมคณะนักธุรกิจจากสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๑ เพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน นั้น ให้กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนกับสาธารณรัฐประชาชนจีนให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมให้นักลงทุนจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามาลงทุนในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (East Economic Corridor : EEC) ๒. ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๑ ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมพิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการจัดทำความร่วมมือในด้านการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) กับสาธารณรัฐประชาชนจีนให้มากยิ่งขึ้น นั้น มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) กำกับติดตามให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามข้อสั่งการดังกล่าวให้บรรลุผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว รวมทั้งให้พิจารณาความเหมาะสมในการจัดตั้งหน่วยงานรองรับการดำเนินการเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาดังกล่าวในรูปแบบองค์การมหาชนด้วย
|
||||||||||||||||||||||||||||||||||||
103 | ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการบริหารองค์การมหาชน และขอจัดกลุ่มองค์การมหาชน | นร | 28/05/2561 | |||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนี้
๑. เห็นชอบการขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๔๗ (เรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราเงินเดือนฯ หลักเกณฑ์การกำหนดเบี้ยประชุมฯ และการพัฒนาการดำเนินงาน และการประเมินผลองค์การมหาชน) วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๒ (เรื่อง แนวทางการบริหารของคณะกรรมการองค์การมหาชน) และวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๖ [เรื่อง การจัดกลุ่มองค์การมหาชนกรณีสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน)] เกี่ยวกับการบริหารองค์การมหาชน และขอจัดกลุ่มองค์การมหาชน ตามความเห็นของคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน ในการประชุมครั้งที่ ๓/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐ และครั้งที่ ๑/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๑ ซึ่งมีสาระสำคัญครอบคลุมใน ๓ ประเด็นหลัก ได้แก่ (๑) การปรับหลักเกณฑ์การกำหนดกรอบวงเงินรวมสำหรับค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรสำหรับองค์การมหาชนใหม่ (๒) การจัดกลุ่มใหม่สำหรับสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) และ (๓) กำหนดให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เป็นองค์การมหาชนกลุ่มที่ ๑ พัฒนาและดำเนินการตามนโยบายสำคัญเฉพาะด้าน ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ ๒. ให้สำนักงาน ก.พ.ร. จัดให้มีกลไกในการทบทวนความเหมาะสมของสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรขององค์การมหาชนแต่ละแห่งอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงภารกิจ รายได้ และเงินทุนสะสมของแต่ละองค์การมหาชน รวมทั้งยึดหลักการที่มิให้มีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเกินกว่าความจำเป็นและไม่เป็นภาระงบประมาณของประเทศ และให้นำเสนอคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชนพิจารณาเป็นประจำทุกปี เพื่อให้การบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์การมหาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้รับความเห็นของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เช่น การปรับกรอบวงเงินรวมค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเป็นไม่เกินร้อยละ ๔๐ ของแผนการใช้จ่ายเงินประจำปี การยกเว้นการกำหนดให้องค์การมหาชนที่มีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรต่อแผนการใช้จ่ายเงินประจำปีเกินกว่าที่กำหนดไว้ต้องส่งแผนการปรับปรุงค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเป็นเวลา ๓ ปี เสนอคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชนพิจารณา การทบทวนหลักเกณฑ์และปรับปรุงการจัดกลุ่มองค์การทั้งหมดโดยรวมใหม่ตามสภาพการณ์เปลี่ยนแปลงของสถานการณ์และนโยบายปัจจุบัน การกำหนดนโยบายหรือหลักเกณฑ์ในการให้ผู้บริหารลำดับที่ ๑ และ ๒ ขององค์การมหาชนเข้าดำรงตำแหน่งและหมดวาระการดำรงตำแหน่งพร้อมกันเพื่อประโยชน์ในการบริหารองค์การต่อไป และการให้หน่วยงานจัดทำแผนอัตรากำลังและแผนการใช้จ่ายงบประมาณด้านบุคลากรให้สอดคล้องกับภารกิจและบทบาทของหน่วยงาน เป็นต้น ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย ๓. ให้สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) และกระทรวงการคลัง (กรมธนารักษ์) เร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินการโอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ และงบประมาณของศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบพระชนมพรรษา เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาที่กำหนดตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๑ [เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....] และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (องค์การสวนสัตว์) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) เร่งศึกษาแนวทางการโอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ และงบประมาณของสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีไปเป็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (องค์การสวนสัตว์) รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายขององค์การสวนสัตว์ให้สอดรับกับแนวทางการโอนสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี โดยให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้เป็นไปตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๐ (เรื่อง รายงานการประเมินผลองค์การมหาชนตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๕๘ เรื่อง การทบทวนความจำเป็นในการมีอยู่ขององค์การมหาชน) ต่อไป |
||||||||||||||||||||||||||||||||||||
104 | ผลการดำเนินการตามมาตรา 5/8 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 เรื่อง แนวทางการควบคุมดูแลกิจการของคณะกรรมการองค์การมหาชน | นร12 | 28/05/2561 | |||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนี้
๑. เห็นชอบให้ยกเลิกแนวทางการบริหารของคณะกรรมการองค์การมหาชน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๒ และเห็นชอบผลการดำเนินการตามมาตรา ๕/๘ แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๙ เรื่อง แนวทางการควบคุมดูแลกิจการของคณะกรรมการองค์การมหาชน ซึ่งได้มีการกำหนดแนวปฏิบัติในการควบคุมดูแลกิจการของคณะกรรมการองค์การมหาชนตามมาตรา ๒๔ และมาตรา ๒๔/๑ แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งการส่งเสริมให้คณะกรรมการองค์การมหาชนมีเครื่องมือกำกับการปฏิบัติงาน และแนวทางการควบคุมกิจการขององค์การมหาชน และให้องค์การมหาชนที่จัดตั้งโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม นำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติต่อไป ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ ทั้งนี้ ให้สำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงาน ก.พ. เช่น การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและคณะอนุกรรมการ ควรเพิ่มจำนวนที่ปรึกษาของคณะกรรมการเป็นจำนวนไม่เกิน ๔ คน การปรับการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเป็นไม่ให้เกินกว่าร้อยละสามสิบของงบประมาณค่าใช้จ่ายตามแผนการใช้จ่ายเงินที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการองค์การมหาชนในปีงบประมาณนั้น การปรับถ้อยคำเกี่ยวกับการกำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการองค์การมหาชนให้สอดคล้องกับมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๙ และการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการไว้ด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นต้น ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย ๒. ให้สำนักงาน ก.พ.ร. เร่งชี้แจงกับองค์การมหาชนที่ต้องนำแนวทางการบริหารของคณะกรรมการองค์การมหาชนไปใช้เป็นแนวปฏิบัติให้ชัดเจนและมีความเข้าใจตรงกัน เพื่อให้บรรลุผลตามเป้าประสงค์ของสำนักงาน ก.พ.ร. ต่อไป ๓. ในส่วนของการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรไม่ให้เกินกว่าร้อยละสามสิบของงบประมาณค่าใช้จ่ายตามแผนการใช้จ่ายเงินที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการองค์การมหาชนในปีงบประมาณ ยกเว้นองค์การมหาชนที่มีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดไว้เป็นการเฉพาะนั้น ให้สำนักงาน ก.พ.ร. จัดให้มีกลไกในการทบทวนความเหมาะสมของสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรขององค์การมหาชนแต่ละแห่งอย่างต่อเนื่อง โดยให้คำนึงถึงภารกิจ รายได้ และเงินทุนสะสมของแต่ละองค์การมหาชน รวมทั้งยึดหลักการที่มิให้มีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเกินกว่าความจำเป็น และไม่เป็นภาระงบประมาณของประเทศ และนำเสนอคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชนเพื่อพิจารณาเป็นประจำทุกปีด้วย เพื่อให้การบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์การมหาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ๔. สำหรับประเด็นการใช้ระบบสัญญาจ้างกับเจ้าหน้าที่ขององค์การมหาชนทุกตำแหน่ง ให้องค์การมหาชนระบุรายละเอียดการจ้างงานในสัญญาจ้างให้ชัดเจน โดยเฉพาะการจ่ายค่าตอบแทนพิเศษตามผลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ขึ้นอยู่กับผลประกอบการขององค์การมหาชน แต่ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าตอบแทนพิเศษทุกปี เพื่อป้องกันการตีความที่แตกต่างกันระหว่างหน่วยงานกับเจ้าหน้าที่ รวมทั้งให้กำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณระยะเวลาของสัญญาจ้างและหลักเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อการเลื่อนหรือการดำรงอยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อให้สัญญาจ้างมีสาระสำคัญที่ครบถ้วนสมบูรณ์ มีมาตรฐานเดียวกัน และสามารถพัฒนาบุคลากรขององค์การมหาชนได้ตามเป้าหมายของหน่วยงานด้วย ๕. ให้สำนักงาน ก.พ.ร. พิจารณาทบทวนความจำเป็นในการคงอยู่หรือยุบเลิกองค์การมหาชนที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่และวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งหน่วยงาน ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ (เรื่อง การทบทวนความจำเป็นในการคงอยู่หรือยุบเลิกองค์การมหาชน) เป็นประจำทุกปีงบประมาณ เพื่อให้เกิดการประเมินผลสัมฤทธิ์และปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และให้พิจารณาส่งเสริมให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการภาครัฐ (Citizen Engagement) ในสาขาและรูปแบบต่าง ๆ เช่น การสร้างเครือข่ายประชารัฐ และการถ่ายโอนภารกิจด้านการปฏิบัติไปให้หน่วยงานภายนอกภาครัฐ เป็นต้น เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ รวมทั้งคำนึงถึงประสิทธิภาพในการดำเนินงานของภาครัฐและประโยชน์สูงสุดของประเทศเป็นสำคัญ |
||||||||||||||||||||||||||||||||||||
105 | ปรับปรุงคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี (คำสั่ง นร ที่ 122/2561) | นร04 | 28/05/2561 | |||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๑๒๒/๒๕๖๑ เรื่อง ปรับปรุงคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๑ โดยปรับปรุงการมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในส่วนของรองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง) โดยยกเลิกความในข้อ ๒.๒ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๓๒๓/๒๕๖๐ ลงวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๖๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“๒.๒ มอบหมายให้กำกับดูแลองค์การมหาชนและหน่วยงานของรัฐ ดังนี้ ๒.๒.๑ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ๒.๒.๒ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ๒.๒.๓ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ๒.๒.๔ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)”
|
||||||||||||||||||||||||||||||||||||
106 | ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง สภาพปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนเมือง ของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ | สว | 15/05/2561 | |||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรื่อง สภาพปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนเมือง ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้พิจารณาข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ แล้วเห็นว่า ข้อเสนอแนะดังกล่าวสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๗๙) โดยในชั้นกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิจารณาให้ความเห็น ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (๑๒ กันยายน ๒๕๖๐) เห็นชอบในหลักการ โดยให้ปรับชื่อเป็น “แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๗๙) และได้มีการดำเนินการ เช่น กำหนดให้มี “คณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ” ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ พ.ศ ๒๕๕๑ เพื่อขับเคลื่อนแผนแม่บทดังกล่าว ให้มีคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายและแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน การจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยของการเคหะแห่งชาติ การสนับสนุนกองทุนสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยแก่องค์กรชุมชน ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เป็นต้น ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติทราบต่อไป
|
||||||||||||||||||||||||||||||||||||
107 | รายงานสรุปผลการเดินทางไปราชการ ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี | วท | 01/05/2561 | |||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสรุปผลการเดินทางไปราชการ ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างวันที่ ๑๖-๒๒ เมษายน ๒๕๖๑ ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ สรุปได้ ดังนี้
๑. การเป็นสักขีพยานในการลงนาม Annex ของบันทึกความเข้าใจสำหรับความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กับสถาบันดาราศาสตร์วิทยุมักซ์พลังค์ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมพัฒนาชุดอุปกรณ์เครื่องรับสัญญาณวิทยุและซอฟต์แวร์ในการรับและประมวลผลสัญญาณวิทยุสำหรับกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ การฝึกอบรมวิศวกรและนักวิจัยไทย รวมทั้งการให้คำปรึกษาในการติดตั้งและทดสอบการทำงานของชุดอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ดังกล่าว ณ หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ ในบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ในพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ๒. การเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือระหว่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กับ Germany Accelerator South East Asia (GASEA) และหน่วยงาน enpact เพื่อสร้างความร่วมมือใน ๕ เรื่องหลัก ได้แก่ (๑) การพัฒนาแพลตฟอร์ม Accelerator ร่วมกันเพื่อเป็นสะพานเชื่อมให้วิสาหกิจเริ่มต้นในแต่ละเมืองและการเชื่อมต่อระหว่างเยอรมันและอาเซียน (๒) การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีและการลงทุนของทั้ง ๒ เมืองมหานคร ทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินทุน องค์ความรู้ทางด้านเทคนิค และระบบเมนเทอร์ (International Mentoring Program) (๓) การประเมินและการวิเคราะห์พัฒนาการของระบบนิเวศ (๔) การสร้างเครือข่ายผู้พัฒนาระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นในเมืองต่าง ๆ และ (๕) การอำนวยความสะดวกด้านการจัดตั้งบริษัทและพื้นที่การดำเนินธุรกิจทั้ง ๒ ฝ่าย ๓. การเข้าร่วมเสวนาในการประชุม Global Bioeconomy Summit 2018 ณ Telekom Forum ในประเด็น “Strategic Debate : International Collaboration in Bioeconomy Governance” ซึ่งเป็นการประชุมสุดยอดเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ของโลก โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เสนอแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพมีแนวทางหลัก 3B คือ การสร้างเศรษฐกิจชีวภาพด้วยนวัตกรรม (Innovation Bioeconomy) เศรษฐกิจชีวภาพเป็นเครืองมือในการนำไปสู่การเติบโตอย่างทั่วถึง (Inclusive Bioeconomy) และเศรษฐกิจชีวภาพที่มุ่งการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า (Regenerative Bioeconomy)
|
||||||||||||||||||||||||||||||||||||
108 | การปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญา คดีแพ่ง และคดีปกครอง (แนวทางในการดำเนินคดีของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ และแนวทางในการดำเนินคดีในศาลปกครอง กรณีคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีถูกฟ้องคดีในศาลปกครอง) | นร | 24/04/2561 | |||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติ
๑. ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๙ (เรื่อง การปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีเรื่อง การดำเนินคดีอาญา คดีแพ่ง และคดีปกครอง) มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๐ (เรื่อง แนวทางในการดำเนินคดีอาญา คดีแพ่ง และคดีปกครอง) และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๘ และ ๑๘ เมษายน ๒๕๖๐ (เรื่อง การยุติการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง) และเห็นชอบแนวทางในการดำเนินคดีของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ดังนี้ ๑.๑ การดำเนินคดีอาญา เมื่อมีการกระทำความผิดทางอาญาต่อราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ให้แจ้งความร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ไม่สมควรว่าจ้างทนายความยื่นฟ้องคดีอาญาต่อผู้กระทำความผิดเอง และในกรณีที่หน่วยงานของรัฐดังกล่าวถูกเอกชนฟ้องเป็นคดีอาญา ให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการแก้ต่างคดี ถ้าพนักงานอัยการปฏิเสธหรือขัดข้องในการรับแก้ต่าง ให้หน่วยงานของรัฐดังกล่าวมีสิทธิว่าจ้างทนายความดำเนินคดีได้ ๑.๒ การดำเนินการเกี่ยวกับข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐ กรณีคดีใกล้ขาดอายุความ เมื่อมีข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐ ให้หน่วยงานของรัฐใช้ความระมัดระวังในการดำเนินคดีเพื่อมิให้คดีขาดอายุความหรือพ้นกำหนดเวลาฟ้องคดี และในกรณีที่ต้องมีการดำเนินการเกี่ยวกับการเบิกจ่ายงบประมาณ เนื่องจากงบประมาณไม่เพียงพอ หากคดีใกล้ขาดอายุความหรือใกล้พ้นกำหนดเวลาฟ้องคดี และยังไม่สามารถส่งข้อพิพาทไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดได้ ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจัดให้มีการรับสภาพหนี้เพื่อมิให้เกิดความเสียหายขึ้น ๑.๓ การดำเนินคดีที่ขาดอายุความ กรณีคดีขาดอายุความแล้ว แต่หน่วยงานของรัฐยังยืนยันให้พนักงานอัยการดำเนินคดีให้ทั้งที่เห็นได้ล่วงหน้าว่า หากดำเนินคดีต่อไปก็มีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ กล่าวคือเสียค่าใช้จ่าย เสียเวลา เสียกำลังคนในการปฏิบัติงานโดยเปล่าประโยชน์ อีกทั้งการดำเนินคดีของรัฐไม่ควรดำเนินการในลักษณะที่เอารัดเอาเปรียบเอกชนด้วยการคาดหวังว่า เอกชนอาจไม่ยกอายุความขึ้นต่อสู้คดี เพราะความไม่รู้กฎหมายหรือความหลงลืม หรืออาจขาดนัดยื่นคำให้การ หรือขาดนัดพิจารณา เพราะมีผลให้การอำนวยความยุติธรรมของรัฐขาดความน่าเชื่อถือ ดังนั้น หน่วยงานของรัฐจึงไม่ควรนำคดีที่ขาดอายุความแล้วส่งให้พนักงานอัยการดำเนินการต่อไป ๒. ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๔ (เรื่อง การกำหนดหลักการและปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการดำเนินคดีในศาลปกครอง กรณีคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถูกฟ้องคดีในศาลปกครอง) และเห็นชอบแนวทางในการดำเนินคดีในศาลปกครอง กรณีคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถูกฟ้องคดีในศาลปกครอง ดังนี้ ๒.๑ มอบอำนาจในการดำเนินคดีปกครองในนามคณะรัฐมนตรีในศาลปกครองให้พนักงานอัยการเป็นผู้ว่าต่างแก้ต่างในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ฟ้องคดี หรือผู้ถูกฟ้องคดีปกครองทุกศาลและทุกชั้นศาลปกครองจนกว่าคดีถึงที่สุด และให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใดได้ทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นไปในทางจำหน่ายสิทธิหรือไม่ก็ตาม เช่น การยอมรับตามที่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอนฟ้อง การประนีประนอมยอมความ การสละสิทธิหรือใช้สิทธิในการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด หรือในการขอให้พิจารณาคดีใหม่ ตลอดจนให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงให้นิติกรไปดำเนินการใด ๆ แทน ๒.๒ กรณีคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถูกฟ้องคดีปกครองในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมติคณะรัฐมนตรี และไม่มีหน่วยงานเจ้าของเรื่องโดยตรง ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการนำคำสั่งศาลปกครองที่ให้ทำคำให้การแก้คำฟ้องเสนอนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายมีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป โดยให้ถือเป็นมติคณะรัฐมนตรีและไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ให้ประสานงานกับสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมความเห็นแล้วยกร่างคำให้การยื่นต่อศาลปกครอง และดำเนินการหรือประสานงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีต่อไป ๒.๓ กรณีนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถูกฟ้องคดีปกครองในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับมติคณะรัฐมนตรีและไม่มีหน่วยงานหรือผู้รับผิดชอบโดยตรง ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการนำคำสั่งศาลปกครองที่ให้ทำคำให้การแก้คำฟ้องเสนอนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายมีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ทั้งนี้ ให้ประสานกับสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมความเห็นแล้วยกร่างคำให้การยื่นต่อศาลปกครอง และดำเนินการหรือประสานงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีต่อไป
|
||||||||||||||||||||||||||||||||||||
109 | รายงานผลการดำเนินงานตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเรื่อง แนวทางการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ศูนย์บริการร่วม ณ จุดเดียว (One Stop Service) และการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลภาครัฐ (Government Data Center) (ประจำเดือนมีนาคม 2561) | ดศ | 24/04/2561 | |||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเรื่อง แนวทางการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ศูนย์บริการร่วม ณ จุดเดียว (One Stop Service) และการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลภาครัฐ (Government Data Center) (ประจำเดือนมีนาคม ๒๕๖๑) ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ สรุปได้ ดังนี้
๑. การขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายเพื่อใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ประกอบด้วย (๑) การประชุมเชิงปฏิบัติการ “การขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)” (๒) หลักเกณฑ์และแนวคิดการดำเนินการ Big Data Sandbox สำหรับภาครัฐ (๓) ความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านข้อมูล และ (๔) การดำเนินการในระยะต่อไป ๒. ศูนย์บริการร่วม ณ จุดเดียว (One Stop Service) มีการดำเนินการโดยผ่านช่องทาง GovChannel ในเดือนมีนาคม ๒๕๖๑ ประกอบด้วย (๑) การเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อติดต่อราชการ (๒) การเชื่อมโยงข้อมูลเปิดภาครัฐ (๓) การเชื่อมโยงศูนย์กลางแอปพลิเคชันภาครัฐ (๔) การเชื่อมโยงกับเว็บไซต์กลางบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ (๕) การเชื่อมโยงกับข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (๖) การเชื่อมโยงกับข้อมูลสถิติและสารสนเทศภาครัฐ (National Statistics) (๗) ตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ (๘) ระบบอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจแบบครบวงจร และ (๙) สิ่งที่จะดำเนินการต่อไป ๓. การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลภาครัฐ (Government Data Center) ในการหารือร่วมระหว่างสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กับกระทรวงต่าง ๆ พบว่า มีหน่วยงานให้ความสนใจในการดำเนินการศูนย์ข้อมูลระดับกระทรวง (Ministry Data Center) และมีแนวโน้มจะใช้บริการ G-Services มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงพบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานด้านศูนย์ข้อมูลทั้งด้านงบประมาณ ทักษะความสามารถของบุคลากร การบริหารจัดการ รวมถึงอุปสรรคด้านสถานที่ ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถรองรับการขยายตัวของบริการในอนาคตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
|
||||||||||||||||||||||||||||||||||||
110 | แนวทางการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology : FinTech) | กค | 17/04/2561 | |||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนี้
๑. เห็นชอบในหลักการแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology : FinTech) ซึ่งประกอบด้วย ๓ แนวทางหลัก ได้แก่ (๑) การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ (๒) การผลักดันหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ให้และผู้ใช้ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับ FinTech และ (๓) การจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงิน (Institute for Financial Innovation and Technology : InFinIT) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาระบบนนิเวศที่เอื้อต่อการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม FinTech ในประเทศไทย โดยจัดตั้งมูลนิธิเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และจัดตั้ง InFinIT ภายใต้มูลนิธิดังกล่าว รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการ InFinIT ขึ้นเพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและกำกับดูแลการดำเนินงานของ InFinIT ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ๒. ให้กระทรวงการคลังรับความเห็นและข้อสังเกตของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี คณะพิเศษ ในคราวประชุมครั้งที่ ๔/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๑ ดังต่อไปนี้ ไปพิจารณาดำเนินการด้วย ๒.๑ ให้กระทรวงการคลังพิจารณาถึงความเหมาะสมและรูปแบบในการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ที่จะดำเนินการในรูปแบบมูลนิธิ โดยอาจพิจารณาปรับปรุงกลไกที่มีอยู่ในปัจจุบันมาใช้ดำเนินงาน เช่น มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลังของกระทรวงการคลัง เป็นต้น ทั้งนี้ หากกระทรวงการคลังเห็นว่า ยังมีความจำเป็นต้องมีการจัดตั้งสถาบันขึ้นใหม่เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรม FinTech อย่างเป็นรูปธรรม ก็ให้กำหนดบทบาทหน้าที่ของสถาบันที่จัดตั้งใหม่ให้มีความชัดเจน เหมาะสม เพื่อลดความซ้ำซ้อนกับกลไกเดิมที่มีอยู่ด้วย ๒.๒ ในกรณีที่มีการจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงิน (Institute for Financial Innovation and Technology : InFinIT) ขึ้นในอนาคต ให้สถาบัน InFinIT บูรณาการและประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่ทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้และสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการประกอบกิจการ FinTech เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสมาคมฟินเทคประเทศไทย เป็นต้น เพื่อช่วยให้การดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรม FinTech มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ๓. ในส่วนของการดำเนินการเพื่อการจัดตั้งมูลนิธิเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจและสถาบัน InFinIT รวมทั้งการขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และการขอรับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากภาครัฐ เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินการจัดตั้งสถาบัน InFinIT ให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัดต่อไป |
||||||||||||||||||||||||||||||||||||
111 | ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... | นร12 | 10/04/2561 | |||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนี้
๑. เห็นชอบให้กำหนดวันสิ้นสุดความรับผิดชอบการดำเนินงานของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ในส่วนของศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบพระชนมพรรษา เป็นวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๑ และให้กรมธนารักษ์รับผิดชอบศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๑ ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอเพิ่มเติม ๒. เห็นชอบอัตราการจ่ายค่าตอบแทนการเลิกจ้างและเงินช่วยเหลือเยียวยาแก่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ที่ปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวกับศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ ตามบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนครกำหนด ซึ่งจะต้องพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่เนื่องจากการยุบเลิกหน่วยงาน ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ ๓. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญคือ ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ และงบประมาณ ของศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบพระชนมพรรษาของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ไปเป็นของกรมธนารักษ์ ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้แก้ไขระยะเวลาในร่างมาตรา ๓ และร่างมาตรา ๗ ให้เป็นไปตามข้อ ๑ แล้วดำเนินการต่อไปได้ ๔. ให้สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) รับความเห็นของสำนักงบประมาณเกี่ยวกับค่าตอบแทนการเลิกจ้างและเงินช่วยเหลือเยียวยาแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในส่วนของศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ ที่จะต้องพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ ควรให้ใช้จ่ายจากเงินสะสมของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) โดยการเบิกจ่ายจากแหล่งเงินดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และไม่มีความซ้ำซ้อน ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย ๕. ให้สำนักงาน ก.พ.ร. รับความเห็นของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับแนวทางการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ในอนาคต ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
|
||||||||||||||||||||||||||||||||||||
112 | ความก้าวหน้าในการดำเนินงานของคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ | ศธ | 10/04/2561 | |||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินงานของคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๖๐ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ สรุปได้ ดังนี้
๑. การจัดทำแผนการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๖๕ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาดำเนินการปรับปรุง (ร่าง) แผนการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติให้มีความสมบูรณ์ โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบภายในเดือนเมษายน ๒๕๖๑ ๒. การกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเร่งดำเนินการปรับปรุงกรอบมาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๖ ให้สอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เมื่อเสร็จแล้วจะแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนต่อไป ๓. การปรับระดับมาตรฐานอาชีพให้สอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน (กรมการจัดหางานและกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน) และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินการแล้ว โดยให้มีการวางแผนและติดตามผลการนำไปปฏิบัติและมีกระบวนการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม ๔. การชี้แจงและประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจัดพิมพ์เอกสาร “กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง” และจะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการใน ๕ ภูมิภาค เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในระยะต่อไป ๕. การวางแผนการผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ ระยะที่ ๑ ในสาขาช่างอากาศยาน ให้นำแผนแม่บทการพัฒนากำลังคนด้านช่างอากาศยานเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ส่วนระยะที่ ๒ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำหนดแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ๗ กลุ่มอาชีพ และระยะที่ ๓ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือเพื่อคัดเลือกสาขาอาชีพเพิ่มเติมอีก ๓ กลุ่มสาขาอาชีพ
|
||||||||||||||||||||||||||||||||||||
113 | ร่างพระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. .... | กห | 10/04/2561 | |||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนี้
๑. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการขยายขอบเขตการดำเนินงานของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็น “สำนักงานเทคโนโลยีป้องกันประเทศ” โดยเป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะซึ่งไม่ใช่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงบประมาณ เช่น การกำหนดหลักเกณฑ์การร่วมทุนกับสำนักงานเทคโนโลยีป้องกันประเทศ การกำหนดแนวทางป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล และการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เป็นต้น ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป ๒. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ ๓. ให้ยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๔๙ (เรื่อง ขั้นตอนการจัดตั้งองค์การมหาชน) และให้กระทรวงกลาโหมเร่งรัดดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว แล้วแจ้งผลการดำเนินการไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อประกอบการพิจารณาของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อไป ๔. ให้กระทรวงกลาโหมรับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงบประมาณ เช่น การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานขององค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะต่อไป รวมทั้งการใช้จ่ายเงินและการกู้ยืมเงินของสำนักงานเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เป็นต้น ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย |
||||||||||||||||||||||||||||||||||||
114 | ขออนุมัติเพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณรายการค่าควบคุมงานก่อสร้างอาคารควบคุมกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร พร้อมอาคารประกอบและระบบสาธารณูปโภค ระบบสาธารณูปการ ตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ และรายการค่าควบคุมงานก่อสร้างงานภูมิสถาปัตยกรรม งานสาธารณูปโภคและสาธารณูปการอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร (AstroPark) ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ | วท | 03/04/2561 | |||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ จำนวน ๒ รายการ ประกอบด้วย (๑) รายการค่าควบคุมงานก่อสร้างอาคารควบคุมกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๔๐ เมตร พร้อมอาคารประกอบและระบบสาธารณูปโภคและระบบสาธารณูปการ ตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ จากวงเงิน ๑,๔๒๘,๓๐๐ บาท เป็นวงเงิน ๓,๙๘๐,๐๐๐ บาท และ (๒) รายการค่าควบคุมงานก่อสร้างงานภูมิสถาปัตยกรรม งานสาธารณูปโภคและสาธารณูปการอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร (AstroPark) ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จากวงเงิน ๘๑๒,๕๐๐ บาท เป็นวงเงิน ๑,๖๐๐,๐๐๐ บาท เป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย ตามนัยข้อ ๗ (๓) ของระเบียบการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๓๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม สำหรับค่าควบคุมงานที่เพิ่มขึ้น จำนวน ๒,๕๕๑,๗๐๐ บาท และ ๗๘๗,๕๐๐ บาท ตามลำดับ นั้น ให้สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) พิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี และ/หรือใช้จ่ายจากเงินรายได้ของ สดร. ทั้งนี้ การดำเนินรายการค่าควบคุมงานดังกล่าว เห็นควรให้ สดร. ดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ๒๕๖๐ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทุกขั้นตอน โดยพิจารณาประโยชน์ของทางราชการเป็นสำคัญ และต่อรองราคาจนต่ำสุดด้วย ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
|
||||||||||||||||||||||||||||||||||||
115 | ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... [มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน)] | กค | 20/03/2561 | |||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนี้
๑. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดกิจกรรมที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... [มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน)] มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) ที่ประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ สำหรับรายรับจากการให้สินเชื่อเพื่อการจัดหาและพัฒนาที่ดินและรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๙ เป็นต้นไป ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ ๒. ให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของสำนักงบประมาณที่เห็นควรให้สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) พิจารณาดำเนินการด้วยความรอบคอบ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และภารกิจของสถาบันฯ ในการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรมและยั่งยืนอย่างแท้จริง ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
|
||||||||||||||||||||||||||||||||||||
116 | รายงานผลการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการต่างๆ ภายใต้กลไกเครดิตร่วม (Joint Crediting Mechanism: JCM) | ทส | 13/03/2561 | |||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายใต้กลไกเครดิตร่วม (Joint Crediting Mechanism : JCM) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เสนอ สรุปได้ ดังนี้
๑. การให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาโครงการ JCM Model Project กระทรวงสิ่งแวดล้อม ประเทศญี่ปุ่น ได้ให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาโครงการ JCM Model Project จำนวน ๒๓ โครงการ มูลค่ามากกว่า ๑.๕ พันล้านบาท ก่อให้เกิดการลงทุนมากกว่า ๔ พันล้านบาท โดยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดลงจากโครงการทั้งหมด เท่ากับ ๙๙,๘๗๐ ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ทั้งนี้ กิจกรรมที่ได้รับทุนสนับสนุนการพัฒนาโครงการ JCM Model Project ก่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีประเภทต่าง ๆ แบ่งเป็น ๒ ประเภท ได้แก่ (๑) การผลิตพลังงาน และ (๒) การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ๒. การประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่น จำนวน ๓ ครั้ง โดยที่ประชุมมีมติรับรองกฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์ และแบบฟอร์มต่าง ๆ ที่ใช้ในการดำเนินงานรับรองระเบียบวิธีการคำนวณปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก จำนวน ๖ วิธี พร้อมทั้งรับรองผู้ตรวจประเมินโครงการ จำนวน ๔ ราย และขึ้นทะเบียนโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน ๑ โครงการ ๓. การจัดการอบรม/สัมมนาร่วมกับหน่วยงานของประเทศญี่ปุ่น จำนวน ๑๑ ครั้ง มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด ๗๒๘ คน และได้เข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการที่จะขอขึ้นทะเบียนเป็นโครงการ JCM จำนวน ๕ โครงการ รวมทั้งเยี่ยมชมโครงการ จำนวน ๔ โครงการ
|
||||||||||||||||||||||||||||||||||||
117 | รายงานผลการดำเนินงานตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เรื่อง แนวทางการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ศูนย์บริการร่วม ณ จุดเดียว (One Stop Service) และการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลภาครัฐ (Government Data Center) (ประจำเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2561) | ดศ | 13/03/2561 | |||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนี้
๑. รับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเรื่อง แนวทางการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ศูนย์บริการร่วม ณ จุดเดียว (One Stop Service) และการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลภาครัฐ (Government Data Center) (ประจำเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑) ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ สรุปได้ ดังนี้ ๑.๑ การขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายเพื่อใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ได้มีการดำเนินการร่วมกับ ๒๐ กระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น (๑) การดำเนินนโยบายการจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายเพื่อใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ศูนย์ข้อมูล (Data Center) และคลาว์ดคอมพิวติ้ง (Cloud Computing) (๒) การประชุมเชิงปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายเพื่อใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ศูนย์ข้อมูล (Data Center) และคลาว์ดคอมพิวติ้ง (Cloud Computing) ครั้งที่ ๑/๒๕๖๑ และครั้งที่ ๒/๒๕๖๑ และ (๓) การนำข้อมูลที่พร้อมให้บริการมาดำเนินการเป็นโครงการนำร่อง เป็นต้น ๑.๒ ศูนย์บริการร่วม ณ จุดเดียว (One Stop Service) มีสถิติการใช้บริการและสถานภาพการดำเนินงานในระยะแรก (ข้อมูล ณ วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๑) เช่น (๑) ข้อมูลเพื่อติดต่อราชการ (Government Service Information) จำนวน ๙๓๔,๐๐๐ ครั้ง (๒) การเชื่อมโยงข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data) จำนวน ๘๕๐,๐๐๐ ครั้ง (๓) ศูนย์กลางแอปพลิเคชันภาครัฐ (Government Application Center) จำนวน ๖๖๖,๐๐๐ ครั้ง (๔) เว็บไซต์กลางบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ (Thailand e-Government Portal) จำนวน ๕,๓๒๐,๐๐๐ ครั้ง (๕) ข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (Thailand Government Spending) จำนวน ๓๒๖,๐๐๐ ครั้ง และ (๖) ข้อมูลสถิติและสารสนเทศภาครัฐ (National Statistics) สามารถเข้าถึงข้อมูลสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติผ่าน GovChannel ได้แล้ว เป็นต้น ๑.๓ การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลภาครัฐ (Government Data Center) ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการบูรณาการฐานข้อมูลกลางภาครัฐ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๖๐ มีมติเห็นชอบในหลักการกรอบ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาศูนย์ข้อมูลภาครัฐ และ (ร่าง) มาตรฐานบริการศูนย์ข้อมูลภาครัฐ รวมถึงให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ดำเนินการสำรวจการพัฒนาศูนย์ข้อมูลของหน่วยงานในทุกกระทรวง และหน่วยงานตามประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง รายชื่อหน่วยงานหรือองค์กร หรือส่วนงานของหน่วยงานหรือองค์กรที่ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ ๒. ให้คณะกรรมการขับเคลื่อนบูรณาการฐานข้อมูลกลางภาครัฐเร่งรัดการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ให้แล้วเสร็จ และสามารถให้บริการประชาชนและส่วนราชการได้ภายในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑
|
||||||||||||||||||||||||||||||||||||
118 | มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองและชุมชน | กก | 06/02/2561 | |||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติ
๑. รับทราบมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองและชุมชน ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ ดังนี้ ๑.๑ การดำเนินการด้านอุปสงค์ของการท่องเที่ยว (Demand Side) ประกอบด้วย (๑) Enjoy Local คือ การส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวเข้าเมืองรองด้วยบัตร TAT Plus ผ่านระบบออนไลน์ในการใช้จ่ายและท่องเที่ยวในเมืองรองและชุมชน (๒) SET In the Local กระตุ้นกลุ่มตลาด MICE จัดประชุม สัมมนา และกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ในเมืองรองและชุมชนในวันธรรมดา (๓) Local Link มุ่งเน้นความร่วมมือกับบริษัทนำเที่ยวหรือตัวแทนจำหน่ายให้ได้รับสิทธิพิเศษ (๔) Eat Local คือ การส่งเสริมอาหารถิ่น ใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น ชักจูงนักชิมผ่านกิจกรรมส่งเสริมการขายให้เกิดความต่อเนื่อง (๕) Our Local คือ การสร้างสรรค์กิจกรรมในชุมชนบนพื้นฐานวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ (๖) Local Heros คือ กิจกรรม Mobile Clinic เพื่อการพัฒนาคน เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนจากองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้ชุมชนเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันในอนาคต และ (๗) Local Strong คือ การบูรณาการภาครัฐและภาคเอกชนสร้างความเข้มแข็งในห่วงโซ่อุปทานและสินค้าพร้อมขาย พัฒนา Creative Tourism และสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว ๑.๒ การดำเนินการด้านอุปทานของการท่องเที่ยว (Supply Side) โดยดำเนินการจัดทำมาตรการ โครงการ เพื่อให้สอดคล้องต่อการขับเคลื่อนของภาครัฐในเป้าหมายของการกระจายรายได้สู่เมืองรองและชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ และกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ๒. ในส่วนของโครงการจัดตั้งศูนย์ประชุมนานาชาติเพื่อรองรับกิจกรรมในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions : MICE) ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาความจำเป็นและความเหมาะสมของการดำเนินโครงการดังกล่าวให้ชัดเจนก่อน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณของประเทศ ๓. ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาบูรณาการการดำเนินการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเมืองรองและชุมชนให้สอดคล้องเชื่อมโยงกับการดำเนินการขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) รวมทั้งให้พิจารณาส่งเสริมการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ให้เหมาะสมและเป็นที่น่าสนใจแก่นักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นด้วย เช่น การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ป่าชายเลน การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ป่าในเมือง กิจกรรมที่เน้นให้เยาวชนมีโอกาสเรียนรู้วิธีการดำรงชีพในป่า การสร้างการมีส่วนร่วมจากมัคคุเทศก์น้อยในชุมชน การกำหนดกิจกรรมเพิ่มเติมที่นักท่องเที่ยวสามารถมีส่วนร่วมหรือสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ระหว่างการเดินทางเชื่อมโยงจากแหล่งท่องเที่ยวพื้นที่เป้าหมายแต่ละแห่ง เป็นต้น ๔. ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพิจารณากำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติในกรณีที่ประสบภัยที่อยู่นอกเหนือความคุ้มครองของการทำประกันภัยเดินทาง โดยให้พิจารณาใช้จ่ายจากเงินกองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวต่างชาติ ตามความจำเป็นและเหมาะสมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศไทย เช่น กรณีที่เข้าพักในที่พักสัมผัสวัฒนธรรม หรือโฮมสเตย์ (Homestay) เป็นต้น
|
||||||||||||||||||||||||||||||||||||
119 | การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน | มท | 30/01/2561 | |||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติ
๑. รับทราบผลการดำเนินงานการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ สรุปได้ ดังนี้ ๑.๑ นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๒๑/๒๕๖๑ ลงวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๑ แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน โดยมีกลไกคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศฯ ๔ ระดับ ได้แก่ ระดับชาติ ระดับจังหวัด/กทม. ระดับอำเภอ/เขต และทีมขับเคลื่อนฯ ระดับตำบล เพื่อบูรณาการกลไกการขับเคลื่อน บูรณาการชุดความรู้ แผนงาน/โครงการ และงบประมาณ ลงไปในพื้นที่เป้าหมาย ๑.๒ กระทรวงมหาดไทยได้จัดประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Video Conference) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จังหวัด และอำเภอ เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในกรอบแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการฯ และเพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับส่วนกลาง จังหวัด อำเภอ และตำบล ๑.๓ การดำเนินงานโครงการฯ ในระยะต่อไป จะกำหนดประชุมหารือเพื่อวางกรอบแนวทางการปฏิบัติงานตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ในวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๑ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล และกำหนดจัดประชุมมอบนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ๒. ให้ทุกกระทรวงและหน่วยงานของรัฐให้ความร่วมมือกระทรวงมหาดไทยในการดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน และสนับสนุนกลไกในการปฏิบัติงานในพื้นที่ทุกระดับ โดยในการดำเนินโครงการดังกล่าวให้คำนึงถึงความเหมาะสมและสอดคล้องกับภารกิจ อำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน และงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรด้วย ๓. ให้ทุกกระทรวงและหน่วยงานของรัฐในระดับพื้นที่ รวมทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรบูรณาการการทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงานและเพื่อให้โครงการดังกล่าวเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ให้กระทรวงมหาดไทยรายงานผลการดำเนินงานในภาพรวม รวมทั้งปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ต่อนายกรัฐมนตรีเป็นระยะ ๆ ด้วย ๔. ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม [สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)] ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการข้อมูลต่าง ๆ ภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน กับการดำเนินการในเรื่อง Big Data ด้วย เพื่อให้ทุกกระทรวงและหน่วยงานของรัฐสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
|
||||||||||||||||||||||||||||||||||||
120 | ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... | นร12 | 23/01/2561 | |||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนี้
๑. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชนให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติองค์การมหาชน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ ๒. ให้สำนักงาน ก.พ.ร. รับความเห็นของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่เห็นควรกำหนดแนวทางการกำหนดเครื่องแบบขององค์การมหาชนไว้เพื่อให้เครื่องแบบของทุกองค์การมหาชนเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
|